บันเทิง

มองผ่านเลนส์คม  - หนังสือสมควรเข้ารอบซีไรต์ 20 เล่ม

มองผ่านเลนส์คม - หนังสือสมควรเข้ารอบซีไรต์ 20 เล่ม

21 มิ.ย. 2554

เกี่ยวกับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์แห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี 2554 ได้รับทราบมาว่าปีนี้ผู้เกี่ยวข้องมีแนวความคิดจะประกาศรายชื่อหนังสือสมควรเข้ารอบ 20 เล่ม ต่อจากนั้นวันที่ 12 กรกฎาคม 2554 จะประกาศรายชื่อหนังสือเข้ารอบ 10 เล่ม ตามที่เคยปฏิบัติมาทุกปี

 วันนี้ (อังคาร) ที่  21  มิถุนายน ระยะเวลาประกาศรายชื่อหนังสือสมควรเข้ารอบ 20 เล่ม ให้นักอ่านช่วยกันพิจารณาจนถึงวันที่ 12 กรกฎาคม 2554  เหลือเวลาประมาณ 20 วัน แม้จะไม่มาก  แต่เป็นแนวความคิดที่ดี

 อย่างที่รู้กันดีอยู่แล้ว  ว่าทุกวันนี้พื้นที่วิพากษ์วิจารณ์วรรณกรรมในสื่อสิ่งพิมพ์เหลือไม่มาก นักวิจารณ์ที่ทำงานจริงจังมีน้อยกว่าจำนวนสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดสอนวิชาวรรณกรรมไทย  สังคมไทยขาดทักษะการวิจารณ์อย่างมีหลักฐาน  แต่นิยมซุบซิบนินทาสำแดงโวหารกันมากกว่า

 การประกาศรายชื่อหนังสือสมควรเข้ารอบ 20 เล่ม ซึ่งปีนี้เป็นรอบของ ‘รวมเรื่องสั้น’ ภายในเวลา 20 กว่าวัน อาจจะเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่นักอ่านผู้สนใจวรรณกรรม ทั้งนักอ่านที่มีประสบการณ์อาจช่วยชี้ข้อดีข้อด้อยของหนังสือเล่มที่กรรมการผู้ตัดสินบางคนมองไม่เห็นย่อมเป็นไปได้ แม้ว่าจะไม่มีโอกาสชี้ขาดก็ตาม แต่ก็ทำให้โลกการอ่านเปิดกว้างขึ้น

 นักอ่านที่มีประสบการณ์ มีทัศนะมุมมองเรื่องสาร และวิธีเขียนที่แตกต่างออกไปจากนักอ่านคนอื่นๆ   ย่อมช่วยผลักดันสังคมการอ่านให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้ากว่าที่เป็นอยู่

 นักอ่านบางคนมีเหตุผลดีพอที่จะยืนยันว่า บางทีหนังสือ 2 - 3 เล่ม ที่ไม่ได้รับรางวัลนั้นมีคุณภาพไม่ด้อยไปกว่ากันเลย  แต่กลับไม่ได้รับการสนับสนุน  จนทำให้หนังสือต้องหายไปจากวงการ เพียงเพราะหนังสือเล่มนั้นไม่ได้รับรางวัล  ตัวอย่างนวนิยายเรื่อง ‘ชะบน’ ของ ธีระยุทธ ดาวจันทึก  กับ ‘เวลา’ของ ชาติ กอบจิตติ  ที่เข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ประจำปี 2537 ด้วยกัน

 ทุกวันนี้นอกจากนักอ่านรุ่นหลังไม่ได้อ่าน ‘ชะบน’ แล้ว  พลอยทำให้นักเขียนที่มีฝีมืออีกคนหายไปจากวงการ  พร้อมหนังสือดีอย่างแนวมานุษยวิทยาด้วย  เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย  

 เช่นเดียวกับหนังสือเข้ารอบ 7 - 10 เล่มสุดท้ายรางวัลซีไรต์อีกประมาณ 200 เรื่อง ที่สำนักพิมพ์ไม่กล้าพิมพ์ออกมา ทุกวันนี้ในร้านหนังสือวรรณกรรมไทยแทบไม่มีที่วาง  ถึงมีก็ซุกอยู่ตามชั้นที่ตั้งอยู่ด้านในของร้าน  จึงเป็นเรื่องดีที่มีการประกาศรายชื่อหนังสือสมควรเข้ารอบ 20 เล่มสุดท้าย   เพราะคงจะช่วยกระตุ้นความสนใจของนักอ่านติดรางวัล  และช่วยให้หนังสือที่มีคุณค่าเทียบเคียงกันขายได้บ้าง  

 หากสำนักพิมพ์ของหนังสือที่เข้ารอบแต่ไม่ได้รางวัลขาดทุนน้อยหรือแค่เสมอตัวก็ยังสามารถจัดพิมพ์วรรณกรรมไทยร่วมสมัยกันต่อไป ซึ่งจะสร้างแรงบันดาลใจแก่นักเขียนให้สร้างสรรค์งานที่ตัวเองรักอย่างมากต่อไปด้วย 
 
 ผมสนับสนุนให้มีการประกาศรายชื่อหนังสือสมควรเข้ารอบรางวัลซีไรต์  20 เล่ม  มีข้อดีหลายประการดังที่ได้อธิบายไปแล้ว

"จำลอง ฝั่งชลจิตร"