บันเทิง

คมเคียวคมปากกา - พวกผู้สาวมาฟังเพลง จั่งแม่นงามแท้น้อน้อง

คมเคียวคมปากกา - พวกผู้สาวมาฟังเพลง จั่งแม่นงามแท้น้อน้อง

17 มิ.ย. 2554

เขียนต้นฉบับวันอังคารที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๕๔ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๗

 ต่อเนื่องจากเรื่อง “สืบสานฮีตฮอยหมอลำ” เมื่อศุกร์ที่แล้ว ที่จัดโดย กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ค่ำคืนของวันนั้น บริเวณถนนหน้าศาลาประชาคม ขอนแก่น เขายังมีเวทีการแสดงหมอลำหลายคณะ อาทิ เคน ดาเหลา, ฉวีวรรณ ดำเนิน, ป. ฉลาดน้อย ส่งเสริม, พรศักดิ์ ส่องแสง, บานเย็น รากแก่น, ราตรี ศรีวิไล ฯลฯ  แต่ผมไม่ได้อยู่รับชมรับฟัง กระนั้นก็ได้รับหนังสือเป็นของฝากมาเล่มหนึ่งชื่อ “ฮีตฮอยหมอลำ : มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม” รวมบทความว่าด้วยหมอลำจำนวนมาก อาทิ

 “หมอลำ : การฟื้นฟูทุนทางวัฒนธรรมในบริบทโลกาภิวัตน์” โดย ผศ.ทรงวิทย์ พิมพะกรรณ์, “บทบาททางสังคมของหมอลำฯ” โดย ดร.แก้วตา จันทรานุสรณ์, “ภูมิรู้และภูมิธรรมในหมอลำฯ” โดย ผศ. ชอบ ดีสวนโคก, “หมอแคน : ภูมิรู้และภูมิปัญญาเชิงคีตศิลป์ฯ” โดย ดร.สนอง คลังพระศรี

 เป็นหนังสือแจกที่ระลึกในงาน  ส่วนจะเหลือสำหรับบุคคลอื่นๆ อย่างไร ลองสอบถามบรรณาธิการ ดร.แก้วตา จันทรานุสรณ์ และผู้ช่วยบรรณาธิการ ผศ.ทรงวิทย์ พิมพะกรรณ์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

 สำหรับผม คงได้อ่านเพิ่มพูนความรู้บ้าง ยอมรับตัวเองรู้น้อยด้านนี้ แม้เป็นคนอีสาน รักภาคอีสาน แต่ก็เป็นอีสานแบบลูกครึ่ง ครึ่งร้อยเอ็ด ครึ่งสุรินทร์ เว้าลาวร้อยเอ็ดบ่คักบ่คือ เพราะภาษาแรกจะไปทางขะแมร์สุรินทร์  แต่พอพูดได้ทั้งสองภาษา ฟังรู้เรื่องทั้งนั้นแหละ โดยเฉพาะถ้ากล่าวในแง่ “ต้นทุนทางวัฒนธรรม” ที่เข้ามาไหลเวียนในโสตประสาทและสามัญสำนึกผมก็คือ ผมฟังและเคลิบเคลิ้มได้ทั้ง “หมอลำ” ทางซีกลาว  และ “เจรียง” หรือ “กันตรึม” ทางซีกขะแมร์ เคยนั่งครุ่นคิดย้อนอดีตดูแล้ว สองซีกฝั่งทางวัฒนธรรมที่ตัวผมบังเอิญกำเนิดเติบโตมาตรงนั้นก็คือ “ลำพลับพลา” เส้นเลือดหนึ่งของทุ่งกุลา 

 ร้อยเอ็ด-สุรินทร์  เส้นแบ่งมิใช่ “แม่น้ำมูล” ที่อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ แต่อยู่ที่ “ลำพลับพลา” ติดบ้านเกิดผม ข้ามลำน้ำนี้จากฝั่งร้อยเอ็ด บ้านสาหร่าย บ้านโคกสะอาด ไปก็จะพบ บ้านขี้เหล็ก บ้านโพนครก ฝั่งสุรินทร์  คนสองฝั่งลำน้ำนี้ใช้ภาษาถิ่นเดียวกัน ตอนเป็นเด็กเลี้ยงควายในป่าละเมาะ เราก็ว่ายข้ามไปข้ามมาหาสู่กัน ดีกันบ้าง ตีกันบ้าง ใช้หนังสติ๊กยิงกันข้ามฝั่งบ้าง เป็นสงครามย่อมๆ ของมนุษยชาติ (๕๕๕)

    บางที  “หมอลำ” กับ “เจรียง” หรือ “กันตรึม”  ก็แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมข้ามลำน้ำสายนี้ ลำน้ำที่ไม่กี่เดือนก่อน ผมกลับบ้านไปพบแต่ดินระแหงน้ำแห้งขอด จะว่าตามฤดูกาลก็ใช่ แต่ส่วนหนึ่งชาวบ้านก็บ่นฟ้องมาว่า เมื่อมีการทำ “นาปรัง” เพราะรัฐรับประกันผลผลิต คนทุกชนชั้นในหมู่บ้านแถวนั้น ไม่ว่าจะเป็นครู ผู้บริหารดูแลหมู่บ้าน ก็สูบน้ำเข้านาตัวเองทั้งวันทั้งคืน บางคนมีกำลังมากก็ใช้เครื่องสูบน้ำหลายเครื่อง มีหรือที่น้ำลำพลับพลา และน้ำป่าบุ่งป่าทามแถวนั้นจะไม่แห้งเหือด คนทำ “นาปี” ปีและครั้ง ก็เดือดร้อน น้ำตาตกใน เพราะหน้าแล้งแทนที่จะได้หาปลาหาปูพออยู่พอกิน ก็เกิดวิกฤติน้ำอย่างน่าใจหาย

 ชาวบ้านเคยเอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ แบ่งปัน อยู่ด้วยกันอย่างสันติสุข ก็เกิดความร้อนรุ่มขึ้นมา วีคิดวิธีอ่านก็ไม่เป็นแบบชาวบ้านอีกต่อไป แต่เป็นแบบการเมือง เป็นแบบนักการเมือง ประเภท “นาของกู ใครจะทำไม” โดยที่ไม่สำนึกเลยว่า “น้ำส่วนรวม ต้องแบ่งกันใช้”

 ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ข้าราชการ ผู้มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบท้องถิ่นแถวสุรินทร์-ร้อยเอ็ด รบกวนไปดูแลหน่อยเถิด นักการเมืองก็ได้ครับ (แม้ผมจะไม่ค่อยชอบ) ถ้ารักชาวบ้านจริง ไปดูปัญหาหน่อยเถิดครับ อย่าปล่อยให้ชาวบ้านเขาขัดแย้งกันเอง แย่งกันเอง ตีกันเอง โดยที่ท่านเอาแต่หาคะแนนเสียงเลย

 เห็นไมล่ะ? ไหลจนได้ จากขอนแก่นถึงร้อยเอ็ด-สุรินทร์ แบบหมอลำเดินดงไปเรื่อยๆ อย่างไรก็จะยังว่าเรื่องหมอลำนี่แหละครับ ตอนเป็นเด็กผมจำกลอนลำได้กลอนหนึ่ง “พอแต่เปิดผ้าม่านกั้ง ออกมาส่องจั่งมองเห็น  พวกผู้สาวมาฟังเพลง จั่งแม่นงามแท้น้อน้อง” รู้สึกชอบจังเลย สมัยนั้น ศิลปวัฒนธรรมก็ไหลเวียนไปโดยไม่แบ่งแยกเขตแดนจังหวัด ผู้คนทะเลาะขัดแย้งกันบ้างก็น้อยมาก

 ไม่เหมือนทุกวันนี้ ที่ปมขัดแย้งการเมืองระดับประเทศ มันได้ลามเข้าไปสู่ชุมชนชาวบ้าน เวที “หมอลำ” ที่เคย “ม่วน” หรือเวที “เจรียง” และ “กันตรึม” ที่เคย “ซรูล” ก็เกิดปมสีนั้นสีนี้ขึ้นมา ปมไม่เอาคนนั้นคนนี้ขึ้นมา คนหมู่บ้านเดียวกันชักไม่อยากมองหน้ากัน...ไม่อยากไปเจอหน้ากันแม้ใน “งานบุญ” ?!

"ไพวรินทร์ ขาวงาม"