บันเทิง

ลำโขงแชนแนล 
ทีวีเว้าอีสาน 24 ชม.

ลำโขงแชนแนล ทีวีเว้าอีสาน 24 ชม.

15 มิ.ย. 2554

“สื่อวัฒนธรรม เพื่อคนอีสาน” สโลแกน ง่าย กระชับ เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายชัดเจน ของ “ลำโขงแชนแนล” สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ของคนอีสานภายใต้ความร่วมมือของผลิตภัณฑ์สมุนไพร ไบโอเมทอินเตอร์ และทีมงาน พิณ แคน ซอ นำโดย “บ่าวปัญญา” หรือ ปัญญาเสกสรร คุณวุฒิ หลังจากที

  วันนี้ ปัญญาเสกสรร คุณวุฒิ เบื่อหน่ายสังคมเมืองกรุง เบื่อหน่ายวิถีที่ต้องดิ้นรนสู้กับระบบทุน เขาได้ตัดสินใจกลับมาเปิดบ้านที่เมืองบั้งไฟโก้ ยโสธร เพื่อถากถางเส้นทางบันเทิงสายใหม่ ผ่านโลกสื่อสารไร้พรมแดน นำศิลปวัฒนธรรมอันดีงามของคนอีสาน เสนอต่อสายตาคนทั้งโลกทางช่อง NSS6 เมื่อวันเสาร์ที่ 11 มิถุนายน ที่ผ่านมา ได้ทดลองออกอากาศในรูปแบบถ่ายถอดสดรายการ  “ลานเพลินลำโขง” มีแขกรับเชิญเข้าร่วมงานคับคั่ง ทั้งจากค่าย แกรมมี่โกลด์ นำโดย สลา คุณวุฒิ ผู้เป็นพี่ชาย จากค่าย อาร์สยาม และศิลปินรุ่นเล็ก รุ่นใหญ่อีกหลายคนมาร่วมสร้างสีสรรค์ ให้ “ลานเพลินลำโขง” ที่เขาตั้งใจจะจำลองลานเพลินแห่งนี้ให้เป็นลานเพลิน “7 สีคอนเสิร์ต” แต่เวทีแห่งนี้จะมุ่งนำเสนอเฉพาะศิลปวัฒนธรรมของชาวอีสานเท่านั้น

 ปัญญาเสกสรร เล่าถึงที่มาที่ไปของ ลำโขงแชนแนล ว่า หลังจากที่วงการเพลงถึงขีดสุด เป็นค่ายใครค่ายมัน นักจัดรายการก็เป็นลูกน้องของแต่ละค่าย คนที่มีอุดมการณ์ ไม่อยากเป็นลูกน้องของค่าย อยากเสนอข่าว อยากเสนอสาระ อยากทำสารคดี อยากเสนอรายการ แต่ทำไม่ได้ ก็เลยเบื่อ เพราะอุดมการณ์ที่มีไม่ได้ใช้ ต่อมาก็เลยไม่มีงานทำ เพราะซื้อเวลาไม่ได้ คิวเพลงก็น้อย และต้องหาเลี้ยงชีพแบบย่ำแย่ ไปไม่รอด

 พอดีครูสลา พี่ชายอยากจะทำเพลงผมก็เลยพาพี่เข้าสู่วงการ พาไปเป็นนักร้องของมิวสิคไลน์ พาแกเขียนเพลงแล้วไปฝากเพลงขาย จนพี่แกยืนได้ ผมก็เลยออกไปอยู่ต่างจังหวัด ก็ออกมาทำคลื่นวิทยุ ก็เกิดการเหมาคลื่น โฆษกก็เริ่มเหมาคลื่นเป็นคลื่นลูกทุ่ง หมอลำไปหมดแล้วก็เลยมาที่อีสาน จังหวะนั้นมีอำนาจเจริญ หนองบัวลำภู เป็นจังหวัดใหม่ก็เลยมาหาเหมาคลื่นตามบ้านนอก ปี 2540 - 2545 ก็เลยมาปลุกกระแส “เว้าอีสาน 24 ชม.” อยู่ 909.00 เมกะเฮิรตซ์ สกลนคร หลังจากที่แกรมมี่เขาไม่เช่าสัญญาต่อ ทางบริษัทผู้รับเหมาเขาไม่ทำเพราะไม่ประสบความสำเร็จ จากที่สกลนครเมืองแดนสนธยา ได้กลายเป็นเมืองลูกทุ่งเฟื่องฟู และก็เกิดการฟ้องร้องกันอีกก็เลยเบื่อ

 พอปี 2547 กลับบ้านมารอบนี้จังหวะที่กระแสวิทยุชุมชนมันเกิดขึ้นมาพอดี ก็มาตั้ง ”กลุ่มพิณ แคน ซอ” เป็นกลุ่มโฆษก พิณ แคน ซอ คือมาทำคลื่นชุมชนให้น้องๆ เขาดู เพราะดูแล้วเห็นคลื่นชุมชนเยอะมาก แต่ส่วนใหญ่ไม่มีทิศทาง ก็เลยอยากทำ แรกๆ ก็ทำเล่นๆ ต่อมาทางค่ายยักษ์ใหญ่ อาร์สยามมาช่วยสนับสนุนคลื่นส่งก็เลยมาทำเต็มรูปแบบ มาตั้งชื่อคลื่น “ร่วมแฮงร่วมใจ” โดยโฆษกจาก กลุ่ม พิณแคนซอ สโลแกนคือ “คลื่นข่าวชาวอีสาน 24 ชม.” ออกอากาศ ยโสธร กับสกลนคร 2 คลื่นเป็น 2 เครือข่ายเพราะสกลนครเป็นร่องรอยเก่าที่เคยทำไว้ ส่วนยโสธร เป็นการเริ่มต้นใหม่ ทำไปทำมาคนก็รับได้

 "ส่วนลำโขงแชนแนล ที่เกิดขึ้นนี้ จากวิทยุชุมชนก็มาต่อยอดเป็น ลำโขงแชนแนล เริ่มจากความคิดว่าอยากทำทีวีก็เลยทำโปรเจกท์ โดยมีคอนเซ็ปต์ว่าอยากทำคลื่นทีวีเว้าลาว 24 ชม. เหมือน “ลาวสตาร์” ตอนแรกว่าจะไปร่วมงานกับลาวสตาร์ แต่พอไปแล้วมันร่วมงานกันไม่ได้เพราะประเพณีต่างกัน รายได้ก็ไม่คุ้ม ก็เสนอโปรเจกท์ ลำโขงแชนแนลมาตลอด คนก็สนใจเยอะ แต่ก็มาเจอปัญหาด้านการเมืองอีก คนก็มาขอซื้อ ลำโขงแชนแนล ก็ไม่ขายให้เขา เพราะว่าอยากจะทำเอง จังหวะที่เรามาทำธุรกิจ ด้านสินค้าสมุนไพร กับสื่อชุมชนปรากฏว่ามีรายได้พอไปพอมา ประกอบกับผู้ให้เช่าสัญญาก็เข้าใจอุดมการณ์ กลุ่มก้อนโฆษก พิณแคนซอ เป็นสื่อมวลชนกลุ่มใหม่ของอีสานที่ผมฟูมฟักขึ้นมา และเราก็ฝันร่วมกันมาว่าถ้าเราเป็นสื่อมวลชนเราจะทำอย่างนี้ ก็เลยเต็มที่กันในวันนี้"

 โดยรูปแบบของสถานีจะ เป็น สื่อวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำโขง นำเสนอศิลปวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำโขง พูดง่ายๆ ว่าเรามาตั้งช่อง 7 สีอยู่ในเมืองเมืองหนึ่ง เป็นเมืองอีสาน ลำโขงคือช่องของคนอีสานที่มีทั้ง วาไรตี้ ที่หลากหลาย เหมือนช่อง 7 สีแต่เป็นเรื่องของคนอีสาน ซึ่งก็ถ่ายทอดผ่านจานดาวเทียม เป็นช่องของเนชั่นเก่า เป็นช่องโฮม แชนแนล แล้วก็มาเป็น ลำโขงแชนแนล ซึ่งก็เป็นเรื่องที่โชคดี เพราะว่าเราไปอยู่ในช่องเก่าของฐานคนดูเดิมมีอยู่แล้ว พอออกอากาศไปไม่ถึง 7 วันมีโทรศัพท์กลับมาแนะนำรายการจากคนฟังเยอะมาก ก็มีกำลังใจ ก็เลยอยากทำเวที เนื่องจากเราทำงานตามขั้นตอนก็เลยขาดการโปรโมท คือทำตามโปรแกรมไปเลย เนื่องจากอยู่บ้านนอก พอไม่ประชาสัมพันธ์คนก็ไม่ค่อยจะรู้จัก สื่ออื่นมันเยอะ

 ส่วนลานเพลินลำโขงนั้น เราจะเน้นรูปแบบคล้ายๆ 7 สีคอนเสิร์ต อะไรประมาณนี้แล้ว อนาคตก็จะมีมวยวันอาทิตย์ซึ่งเราจะเป็นคนจัดเอง เป็นการส่งเสริมกีฬานักเรียน มีการถ่ายทอดลีคฟุตบอลด้วย คือจะเน้นการส่งเสริมด้านต่างๆ ในภูมิภาค และจะตีโจทย์บั้งไฟที่เขามองว่าเป็นบ่อนพนัน ให้เขารู้ว่า บั้งไฟเป็นประเพณี ไม่ใช่การส่งเสริมให้เล่นพนัน แต่จะให้เขารู้ว่าบั้งไฟเป็นกีฬาพื้นที่บ้านที่น่าจะอนุรักษ์ไว้ จะได้ดึงแขกต่างชาติต่างเมืองเข้ามาบ้านเรา ถ้ารัฐบาลมาเห็นจะรู้สึกว่ามันสุดยอด เป็นประเพณีที่แปลก มุมลำโขงแชนแนลจะมองแบบนี้ และไก่ชนเหมือนกัน จะมองอีกมุมหนึ่ง มองเรื่องรายได้ชาวบ้านกับการชนไก่ที่ไม่ใช่เฉพาะการพนัน ลำโขงฯ ก็เลยสนุกกับการมองชาวบ้าน และจะเสนอรายการแหล่งท่องเที่ยวหรือวัฒนธรรมที่มันอยู่ในซอกหลืบ อย่างเช่นเรื่องปู่ตา พิธีเสี่ยงทายแรกนาขวัญอย่างนี้ น่าจะนำเสนอออกไปเพราะเป็นเรื่องที่แปลกประหลาด แต่จะนำเสนอในรูปแบบที่สวยงาม จะไม่ให้มั่ว โดยมีลำดับเหตุการณ์ เริ่มต้นแบบไหน ไปอย่างไร จบอย่างไร

 ส่วนความแตกต่างระหว่างลำโขงแชนแนล กับ ลาวสตาร์ ที่ตั้งใจอยากจะทำแบบเขานั้น ปัญญาเสกสรร บอกว่า คงไม่เหมือนกันแน่นอน เพราะลำโขงแชนแนล เป็นความภูมิใจของคนอีสาน แต่ ลาวสตาร์ มีเรื่องแตกต่างกันอยู่เพราะเป็นของประเทศลาว พูดเรื่องของประเทศลาว และที่เขาทำเขาอยากเป็นคนในเมือง ก็เลยทิ้งกลิ่นไอ พิณแคนซอ ไป แต่ถ้าช่องอีสานที่มีอยู่เขาจะเสนอสาระแบบคล้ายคนราชการมองอีสาน ก็เลยเป็นแบบทางการ ห่างชาวบ้าน มุมมองชาวบ้านหายไป แต่ลำโขงฯมองเรื่องของชาวบ้านเป็นหลัก 6 วันที่ออกอากาศไปแล้ว รับโทรศัพท์ไม่หวาดไม่ไหว วันที่ 11 มิ.ย. 54 ที่ผ่านมา เป็นวันที่ 7 แต่เป็นวันแรกที่ทดลองออกอากาศ เวทีสด คิดว่า ลำโขงแชนแนล จะเป็นที่รู้จักของคนอีสานและทั่วโลกในเวลาไม่นานนี้

"มนูญ มุ่งชู"