โควิด-19

ทำอย่างไรเมื่อ "ภูมิคุ้มกันหมู่" ไม่มีจริง? ติด "โควิด" ซ้ำซาก หมอแนะ 6 ทางรอด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หมอเล่า ควรทำอย่างไร เมื่อ "ภูมิคุ้มกันหมู่" ใน "โควิด" ไม่มีอยู่จริง แนะนำฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันตัวเอง ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ และหยุดแพนิก

ผศ.พญ.สายพิณ หัตถีรัตน์ หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เขียนบทความ "เราต้องทำอย่างไร เมื่อ "ภูมิคุ้มกันหมู่"อาจไม่มีอยู่จริงใน COVID-19" บอกเล่าถึงประสบการณ์ที่พบเจอจากคนไข้รายหนึ่ง ที่  OPD เวชศาสตร์ครอบครัว

ซึ่งคนไข้ได้บอกกับคุณหมอว่า คุณพ่อติดโควิดและเสียชีวิตกระทันหัน ไม่ทราบว่าติดมาจากไหน เพราะทุกคนฉีดวัคซีนกันหมดยกเว้นคุณพ่อ แต่คาดว่าจะมาจากเพื่อนบ้านชาวพม่าที่บ้านติดกัน และคนในบ้านยังใช้ชีวิตปกติ ไม่มีใครป่วยสักคน

 

ซึ่งปัจจุบัน ยังมีคนที่เข้าใจว่า หากสมาชิกในบ้านฉีดวัคซีนกันหมด จะป้องกันการติดเชื้อจากลูกหลานไปยังผู้สูงอายุในบ้านได้ ผู้สูงอายุที่ถูกเก็บรักษาไว้ในบ้านแบบไข่ในหินตลอดช่วงสองปีกว่าของโควิด 
ยังมีคนที่เข้าใจว่า ฉีดวัคซีนโควิดแล้วจะไม่ติดเชื้อหรือป่วยจากโควิด
ยังมีคนที่โทษหรือสงสัยแหล่งที่มาของเชื้อโรคว่ามาจากคนนอก ไม่ใช่คนใน คนที่ถูกเพ่งเล็งโดยเฉพาะเป็นแรงงานต่างด้าว
ยังมีคนที่เข้าใจว่าเราป้องกันตัวเฉพาะเมื่อเราออกนอกบ้าน แล้วเราก็สามารถมาเฉลิมฉลองกันได้ปลอดภัยในบ้าน 
ยังมีคนที่เชื่อว่า หากเราอยู่แยกจากสังคม เราจะปลอดภัยจากโควิด เราเก็บคนแก่ไว้ในบ้าน แล้งคนแก่จะปลอดภัยจากโควิด

 

ในงานวิจัยล่าสุด ของ NIH สหรัฐ เริ่มสังเกตพบว่า ปรากฏการณ์ "Herd Immunity" น่าจะไม่มีในการระบาดของโควิด ซึ่งแปลกแตกต่างจากการติดเชื้อโรคระบาดทุกครั้งที่ผ่านมา ที่เมื่อมีการระบาดใหญ่ หากประชากรส่วนใหญ่เกิด "ภูมิคุ้มกันหมู่" (ไม่ว่าจะเกิดทั้งการติดเชื้อในธรรมชาติ หรือการได้วัคซีน) ประชากรที่เหลือและทั้งหมดจะปลอดภัย โรคจะสงบและหยุดระบาดไปเอง ซึ่งปรากฏการณ์ลักษณะนี้เกิดกับโรคระบาดอื่นๆ ที่ผ่านมา

 

แต่โควิดผ่านมาสองปี เริ่มจะพบว่า ไม่น่าจะมีลักษณะของ Herd Immunity ได้ เพราะประชากรที่ฉีดวัคซีนกันทั้งประเทศ ก็ยังเกิดการติดเชื้อได้ ประชากรที่ติดเชื้อแล้วก็ติดเชื้อซ้ำได้อีก ภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการติดเชื้อกลับไม่แข็งแรงพอจะต้านทานการติดเชื้ออีกรอบ ภูมิคุ้มกันจากวัคซีนก็เช่นกัน แถมมีอายุการสร้างภูมิสั้นในระยะเวลาไม่กี่เดือน

จากการเริ่มค้นพบว่า อาจไม่มี "ภูมิคุ้มกันหมู่"Herd Immunity สำหรับการติดเชื้อ โควิด แล้วเราจะอยู่รอดกับโควิดได้อย่างไร ในเมื่อแนวกันไฟไม่ได้ผล สิ่งที่ทำได้คือ

1. ทุกคนต้องฉีดวัคซีน รวมเข็มกระตุ้น เพื่อป้องกันตัวเอง เพื่อเอาชีวิตรอด
2. ทุกคนยังต้องรับผิดชอบร่วมกัน ชักชวนพาคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนหรือยังไม่ได้รับเข็มกระตุ้นให้ไปรับทางรอดด้วยกัน ไม่ว่าจะคนในหรือคนนอก คนไทยหรือคนเทศ 
3. ทุกคนยังต้องใส่เครื่องมือป้องกันโรค หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ไม่จับหน้าหากไม่ล้างมือ กินแยกกัน  
4. ทุกคนควรเตรียมแผนส่วนตัวสำหรับการติดเชื้อโควิดของตัวเอง จะได้ไม่แพนิกเมื่อติดเชื้อ เราทุกคนมีสิทธิติดเชื้อได้แม้จะป้องกันตัวดีที่สุด เพราะมันติดง่ายมากจากสังคม ลองซ้อมคิดว่า หากมันไม่หมดไปแบบสงครามจบ ที่ทุกคนจะเฮแล้วกลับมาใช้ชีวิตตามเดิมได้ หากมันกลายพันธุ์ไปเรื่อยๆ เป็นสงครามที่สู้ไม่ชนะไปเรื่อยๆ เราจะใช้ชีวิตในปัจจุบันอย่างไร  
5. Don't Give Up,.. and Don't Give in อย่ายอมแพ้ อย่ายกธงขาว แล้วบอก เออ พอเหอะ ฉันจะใช้ชีวิตแล้ว จะติดก็ติดไป ป่วยก็ไม่เท่าไหร่แล้วเดี๋ยวนี้ อาการไม่มาก อย่าคิดแบบนั้น โจทย์ข้อสอบยังไม่ได้รับการเฉลย ปัจจุบัน ท่ามกลางการระบาดของโอมิครอนในบ้านเรา เราพบว่า คนไข้หลายคนติดเชื้อซ้ำได้ เคยป่วยโควิดแล้วก็ป่วยอีก พบการติดเชื้อกันทั้งบ้าน เริ่มมีคนตายทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แล้วยังสังเกตเห็นว่า คนที่ป่วยด้วยโอมิครอน มีอาการ Long COVID อย่างเห็นได้ชัดกว่ารอบเดลต้า กล่าวคือตอนป่วยโอมิครอน อาการไม่หนักก็จริง ไม่ลงปอด แต่พอถึงเวลาหาย กลับหายไม่สุด ยังมีอาการเหนื่อยเพลียง่าย ไม่ฟิต ไม่กระฉับกระเฉงเหมือนเคย ทำอะไรเหนื่อยง่าย ซึมๆเศร้าๆ เซ็งๆ อารมณ์แปลกๆ นอยด์ๆ ได้อีกเป็นเดือน  ทั้งที่เป็นคนแข็งแรงมาก่อน ซึ่งอาการแบบนี้ไม่รู้ว่าจะหายเมื่อไหร่ และไม่มียารักษา
6. แม้มันจะรู้สึกเหนื่อยที่ต้องใช้ชีวิตกับวิกฤตโควิดมานาน สังคมก็คงต้องตั้งสติ สังเกตข้อเท็จจริงในปัจจุบันเป็นทีๆ สังเกตเมื่อมันเริ่มไม่ตรงกับความรู้หรือความเชื่อเดิมๆ ที่เคยมีมา แล้วปรับตัวเองให้ใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัยกับสงครามโรคระบาดครั้งใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติครั้งนี้ เพราะมันกระทบทุกด้านของชีวิตทุกคน 

 

เรียนรู้ที่จะอยู่รอดจากวิกฤตนี้ไปด้วยกันค่ะ เชิญชวนอ่านบทความเรื่อง Herd immunity อาจไม่มีอยู่จริงในโควิด ข้างล่าง

https://academic.oup.com/jid/advance-article/doi/10.1093/infdis/jiac109/6561438?login=false&fbclid=IwAR3RjVAHKa-iMWs2EhJr3dz2M3i3tIqU99l0dZZCzp8abdYr_xN77y6QY3g

 

ที่มา : เพจชมรมแพทย์ชนบท

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ