โควิด-19

เสี่ยง "ติดโควิด" ตรวจ ATK ขึ้นขีดเดียว ไม่ได้แปลว่ารอด แพร่เชื้อได้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เสี่ยง "ติดโควิด" ตรวจ ATK ขึ้นขีดเดียว ไม่ได้แปลว่ารอด ดร.อนันต์ ยก ผลวิจัย 7 ใน 10 ติดเชื้อ แต่รอด เพราะอะไร แนะ ตรวจซ้ำ มากกว่า 1 ครั้ง

เสี่ยง "ติดโควิด" ทั้งใกล้ชิดคนติดเชื้อ และ มีอาการต้องสงสัย ไม่ว่าจะเจ็บคอ ไอ มีน้ำมูก หรือมีไข้ แต่เมื่อตรวจ ATK กลับได้ผลเป็นลบ ไม่ได้หมายความว่า รอดจากการติดโควิด ซึ่งการที่ตรวจแล้วไม่พบ อาจจะมาจากหลายปัจจัย 

 

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักวิจัยด้านไวรัสวิทยา ไบโอเทค สวทช. ได้ยกผลวิจัยจากเนเธอร์แลนด์ หลังจากข้อมูลในช่วงนี้ ดูเหมือนมีเคสโควิดสูงขึ้น การใช้ชุดตรวจ ATK ในการเฝ้าระวังจะมีบทบาทมาก เชื่อว่า หลายครั้งที่เรารู้ตัวว่าไปสัมผัสผู้ติดเชื้อมา แล้วมาตรวจ ATK เพื่อยืนยัน ว่าตกลงเราติดเชื้อจากการสัมผัสนั้นหรือไม่ 

แต่ส่วนใหญ่ ถ้าตอนตรวจ ATK ไม่มีอาการใด ๆ และผลตรวจออกมาเป็นลบในตอนนั้น มักเชื่อกันว่า โชคดีรอดตัวไม่ติดเชื้อแล้ว หลังจากนั้น ถึงแม้จะมีอาการอะไรขึ้นมาบ้าง บางคนก็อาจจะคิดว่าไม่ใช่โควิด เพราะตรวจแล้ว ATK เป็นลบ

 

ดร.อนันต์ ระบุว่า จากการเก็บข้อมูลผู้ใช้ ATK จากผลวิจัยชิ้นหนึ่ง ตรวจหาเชื้อในช่วงที่ตัวเองยังไม่มีอาการชัดเจน ข้อมูลระบุว่า ATK 3 ยี่ห้อ ที่ใช้ในเนเธอร์แลนด์ ได้ผลออกมาสอดคล้องกันว่า ความไวในการตรวจพบเชื้อในกลุ่มคนเหล่านี้ มีเพียงแค่ 20-27% เท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างน้อย คือ ประมาณ 7 ใน 10 คน ที่ติดเชื้อ จะหลุดการตรวจ ATK และ ถ้าไม่ตรวจซ้ำ หลายคนก็จะไม่รู้ตัวว่าตัวเองสามารถแพร่เชื้อได้อยู่

 

การศึกษานี้บอกว่า ในกลุ่มเดียวกันก่อนช่วงโอไมครอน ตัวเลขจะสูงอยู่ในช่วง 50-60% แสดงว่า โอไมครอนอาจมีส่วนทำให้ประสิทธิภาพของชุดตรวจน้อยลงได้ ด้วยปัจจัยจากไวรัสที่เปลี่ยนไป จนแอนติบอดีในชุดตรวจจับได้น้อยลง หรือ อาการที่น้อยลง ตัวอย่างในจมูกจึงเก็บยากขึ้น เป็นต้น

 

คำแนะนำคือ ถ้ามีความเสี่ยงไปสัมผัสเชื้อมาการตรวจ ATK อาจจำเป็นต้องทำมากกว่า 1 ครั้ง โดยเฉพาะช่วงที่เริ่มรู้สึกว่ามีอาการ ควรตรวจซ้ำอีกครั้ง อย่าเชื่อมั่นผลลบครั้งแรกมากเกินไป

 

ก่อนหน้านี้ ดร.อนันต์ ระบุว่า บริบทของการ "ตรวจ  ATK" ณ ปัจจุบัน แตกต่างจากเมื่อก่อน ที่ยังไม่ฉีดวัคซีนกันมาก ๆ ช่วงที่ร่างกายยังไม่มีภูมิจากวัคซีน อาการของโรคจะเกิดจากร่างกายตอบสนองต่อไวรัสที่เพิ่มจำนวนมาในระดับหนึ่งแล้ว ที่สูงมากพอที่จะตรวจเจอด้วย ATK

 

ดังนั้น เราจะเข้าใจว่า ใช้อาการเป็นเกณฑ์ในการวัดจะเจอเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งตรงไปตรงมา แต่พอร่างกายเรามีภูมิจากวัคซีนแล้ว บริบทจะเปลี่ยนไป การตอบสนองต่อไวรัสจะไวกว่าเดิมมาก เมื่อร่างกายรับไวรัสในปริมาณเพียงน้อยนิด ภูมิจากร่างกายก็จะตอบสนองแทบจะทันที ในลักษณะของอาการที่เรารู้สึกได้ ไม่ว่าจะ คันคอ มึนศีรษะ ครั่นเนื้อครั่นตัว ทำให้เราซึ่งเคยชินกับบริบทเดิม ๆ ไปตรวจเพราะมีอาการ แต่ปริมาณไวรัสยังมีไม่มากพอ จึงให้ผลเป็นลบ ทำให้เข้าใจผิดว่า ตัวเองไม่ได้ติดโควิด นอกจากตรวจซ้ำอีก 2-3 วันต่อมา จะพบว่าหลายคนได้ 2 ขีดแล้ว

 

กักตัวกี่วันหลังติดโควิด

 

สำหรับการกักตัวหลัง "ติดโควิด" ความรู้ทางการแพทย์ชัดเจนว่า จะปลอดภัยหากแยกตัวไป 2 สัปดาห์ (14 วัน) การแยกตัว 5 วันไม่เพียงพอ เพราะผู้ป่วยกว่า 50% จะยังสามารถตรวจพบเชื้อ และอาจแพร่ให้แก่คนใกล้ชิดและคนอื่นในสังคมได้

 

  • การแยกตัว 7 วัน โอกาสหลุดยังสูงถึง 25% 
  • การแยกตัว 10 วัน โอกาสหลุด 10%

 

 

ดังนั้น หากแยกตัวน้อยวัน ก็ยิ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะแพร่ให้คนใกล้ชิด และคนอื่น ๆ หากจำเป็นต้องทำมาหากิน หรือศึกษาเล่าเรียน อาจกลับมาใช้ชีวิตได้หลังแยกตัว 7-10 วัน โดยต้องแน่ใจว่า ไม่มีอาการแล้ว และตรวจ ATK อีกครั้งแล้วได้ผลลบ

 

 

 

อ่านผลวิจัยฉบับเต็ม คลิกที่นี่

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ