เตือน "ซุปโอไมครอน" อาจนำระบาดระลอกใหม่ หลังมีการกลายพันธุ์อย่างรวดเร็ว
เตือน "ซุปโอไมครอน" สายพันธุ์ย่อย อาจนำระบาดระลอกใหม่ในหลายภูมิภาค หลังพบว่ามีการกลายพันธุ์อย่างรวดเร็ว ช่วง ฤดูหนาว อาจส่งเสริมให้การระบาดใหม่เกิดขึ้นได้
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ เปิดข้อมูลถึง "ซุปโอไมครอน" (A soup of omicron subvariants) ที่เป็นวลีเด่นในช่วงนี้ ซึ่งถูกเรียกขานมาจากผู้เชี่ยวชาญ โควิด19 ทั่วโลกบ่งชี้ให้เห็นถึงความหลากหลายตามธรรมชาติของการกลายพันธุ์ของไวรัสโคโรนา 2019 ที่เปลี่ยนไปในยุคของ โอไมครอน ซึ่งอาจก่อให้เกิดการระบาดระลอกใหม่ (new wave) ในแต่ละภูมิภาคด้วยสายพันธุ์ย่อยที่แตกต่างกัน
การดำเนินการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของ ไวรัสโคโรนา 2019 จากผู้ติดเชื้อทั่วโลก ซึ่งถูกจัดเก็บในฐานข้อมูล โควิด โลก "GISAID" ตลอด 3 ปี จำนวนกว่า 13.7 ล้านตัวอย่าง (ณ วันที่ 1 พ.ย. 2565) ได้ถูกนำมาประมวลผลด้วยคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงสร้างเป็นต้นไม้แห่งการวิวัฒนาการ (phylogenetic tree)
เพื่อดูความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมระหว่างตระกูลของโคโรนา พบว่าในช่วง 2 ปีแรกตระกูลใหญ่ของโคโรนาไวรัสซึ่งมีรหัสพันธุกรรมแตกต่างกันอย่างมากได้เกิดขึ้นและถูกแทนที่ด้วยตระกูลใหญ่ถัดไปอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ตระกูล ไวรัสอู่ฮั่น ได้ถูกแทนที่ด้วยตระกูล อัลฟา, เบตา, แกมมา, เดลตา และ โอไมครอน ตามลำดับ
และเนื่องจากส่วนหนามแหลมของแต่ละตระกูลมีการกลายพันธุ์เปลี่ยนแปลงแตกต่างกันอย่างมากทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเราพัฒนาตามไม่ทัน เข้าไปจับทำลายไวรัสไม่ได้ ทำให้มีผู้ติดเชื้อเจ็บป่วย รุนแรง และเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของ ตระกูลเดลตา
แต่เมื่อการระบาดย่างเข้าสู่ช่วงปีที่ 3 ในยุคของตระกูล โอไมครอน กลับมีวิวัฒนาการเกิดเป็น สายพันธุ์ย่อย มากกว่า 300 สายพันธุ์ (omicron subvariants) พร้อมกัน โดยแต่ละสายพันธุ์ย่อยของ โอไมครอน มีการกลายพันธุ์ต่างไปจาก ไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์ดั้งเดิม "อู่ฮั่น" มากกว่า 100 ตำแหน่ง โดยเฉพาะส่วนหนามที่อยู่ส่วนเปลือกนอกห่อหุ้มอนุภาคไวรัสไว้
ส่วนหนามมีบทบาทสำคัญในการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันจาก วัคซีน และจากภูมิคุ้มกันที่เราได้รับจากการติดเชื้อ โควิด19 ตามธรรมชาติ รวมทั้งจับกับผิวเซลล์ของผู้ติดเชื้ออย่างจำเพาะ
และเป็นที่น่าสนใจมากว่าส่วนหนามของ โอไมครอน แต่ละสายพันธุ์ย่อยมีทั้งที่ซ้ำกับสายพันธุ์ โอไมครอน ดั้งเดิมประหนึ่งเป็นการรีไซเคิล (recycle) นำตำแหน่งการกลายพันธุ์ดั้งเดิมที่ใช้ได้ผล (ในการหลบเลี่ยงภูมิ หรือจับกับผิวเซลล์) กลับมาใช้ใหม่ผสมผสานกับการกลายพันธุ์ตำแหน่งใหม่ซึ่งจำเป็นใช้แข่งขันกันเองเพื่อการอยู่รอดในหมู่ของ โอไมครอน สายพันธุ์ย่อย
สรุปได้ว่าการระบาดของ โอไมครอน มีความหลากหลายในรูปแบบของการหมุนเวียนอยู่ในประชากรของโลก ซึ่งทำให้คาดเดาแนวโน้มการระบาดในอนาคตได้ยากขึ้น ดังนั้นผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกจึงได้เปรียบการระบาดของ โควิด ในช่วงปีที่ 3 เสมือน ซุปโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย (A soup of omicron subvariants) อันประกอบด้วยหลากหลายของ สายพันธุ์ย่อย เหมือนส่วนประกอบมากมายในน้ำซุป
เช่น BA.2.75, BA.2.75.2, BQ.1, BQ.1.1, BF.7, XBB, XBB.1, XBB.2, XBB.3, XBB.4 และ XBB.5 มีแข่งขันกันแพร่ระบาดเพื่อความอยู่รอด และเนื่องจากแต่ละ สายพันธุ์ย่อย มีการรีไซเคิลตำแหน่งการกลายพันธุ์ของ โอไมครอน ดั้งเดิม เช่นในตำแหน่ง "R346, L452, K444, F486, N460" มาใช้ร่วมด้วย อันอาจเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของเรารู้จักคุ้นตำแหน่งกลายพันธุ์เหล่านี้มาก่อนล่วงหน้า
สังเกตได้ว่าการติดเชื้อเจ็บป่วยจาก โอไมครอน สายพันธุ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น BA.1, BA.2, BA.4, BA.5 และล่าสุด BQ.1 และ XBB จึงมีอาการที่ไม่แตกต่างกัน คือไม่รุนแรงต้องรักษาตัวใน รพ. รวมทั้งมีจำนวนผู้เสียชีวิตน้อยกว่าเมื่อเทียบกับสายพันธุ์เดลตา
ในช่วงเข้าสู่ฤดูหนาวปลายปีนี้และต้นปีหน้า 2565 คาดว่าแต่ละภูมิภาคทั่วโลกจะมีการติดเชื้อ โอไมครอน สายพันธุ์ย่อย ที่แตกต่างกัน เช่นในทวีปยุโรปและอเมริกามีการติดเชื้อ โอไมครอน BQ.1 และ BQ.1.1 ในขณะที่ทวีปเอเชีย โดยเฉพาะ อินเดีย บังกลาเทศ มาเลเซีย และสิงคโปร์ พบการระบาดของ XBB, XBB.1-XBB.5 ในขณะที่ทวีปออสเตรเลียพบการระบาดผสมผสานระหว่าง BQ.1 และ XBB
ช่วงหน้าหนาวในประเทศไทยซึ่งคาดกันว่าจะยาวนาน จะมีส่วนทำให้อนุภาคไวรัสคงอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานขึ้น อาจส่งเสริมให้มีการระบาดระลอกใหม่หรือไม่ และเป็น โอไมครอน สายพันธุ์ย่อย ใดนั้นยังตอบไม่ได้
ติดตาม คมชัดลึก ที่นี่
Facebook : https://www.facebook.com/komchadluek/
YouTube : https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w