โควิด-19

"โอไมครอน" BA.2.75.2 ดื้อต่อภูมิมากกว่า BA.5 ถึง 5 เท่า ดื้อต่อ Evusheld ชัดเจน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หมอธีระ เปิดข้อมูล "โอไมครอน" BA.2.75.2 ดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากกว่า BA.5 ถึง 5 เท่า และดื้อต่อยาแอนติบอดี้ Evusheld อย่างชัดเจน ใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยง

อัปเดตสถานการณ์ การติดเชื้อ "โควิด" เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 399,617 คน ตายเพิ่ม 1,274 คน รวมแล้วติดไป 616,352,626 คน เสียชีวิตรวม 6,527,079 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญึ่ปุ่น รัสเซีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน และฝรั่งเศส เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 16 ใน 20 อันดับแรกของโลก โดย หมอธีระ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ค Thira Woratanarat เปิดเผยว่า "โอไมครอน" BA.2.75.2 ดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากกว่าทุกสายพันธุ์ และมากกว่า BA.5 ถึง 5 เท่า

 

องค์การอนามัยโลกออกรายงาน WHO Weekly Epidemiological Update เมื่อ 14 กันยายนที่ผ่านมาพบว่า "โอไมครอน" BA.5 ครองการระบาดทั่วโลกโดยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า 82.4% เป็น 90% ในสัปดาห์ล่าสุด ทั้งนี้ BA.4 พบราว 6.1% และ BA.2.75 ยังขยายตัวอย่างช้าๆ โดยมีสัดส่วน 2.2%

 

"โอไมครอน" สายพันธุ์ย่อย BA.2.75.2 ดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากกว่า BA.5 ถึง 5 เท่า ข้อมูลล่าสุดเช้าวันนี้จาก Merrell B, Karolinska Institute ประเทศสวีเดน ศึกษาจากผลเลือดของผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ในสต็อคโฮล์ม ประเทศสวีเดน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการฉีดวัคซีนครอบคลุมสูง และมีจำนวนผู้ที่เคยติดเชื้อมาแล้วจำนวนมาก พบว่า BA.2.75.2 นั้นดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากกว่า "โอไมครอน" ทุกสายพันธุ์ที่เคยมีมา ทั้ง BA.1, BA.5, BA.4.6, และ BA.2.75 โดยเฉลี่ยแล้วดื้อมากกว่า BA.5 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ครองการระบาดทั่วโลกอยู่ในปัจจุบันถึง 5 เท่า 

 

นอกจากนี้ ยังดื้อต่อยาแอนติบอดี้อย่าง Evusheld อย่างชัดเจน ซึ่งยานี้ไทยเพิ่งนำเข้ามาใช้ไม่นานมานี้เพื่อป้องกันโรค โควิด-19 ในกลุ่มผู้ที่มีปัญหาภูมิคุ้มกันบกพร่องจากโรคต่างๆ 

 

ความสำคัญของสายพันธุ์ย่อยที่ต้องจับตามอง ทั้ง BA.2.75 , BA.2.75.2 , BA.4.6 และอื่นๆ นั้นคือ โอกาสการ ระบาดระลอกใหม่ ในช่วงปลายปี ซึ่งจะเป็นผลมาจาก 3 ปัจจัยหลักได้แก่ ตัวเชื้อไวรัส ระดับภูมิคุ้มกันของประชาชนหลังจากฉีดวัคซีนที่จะลดลงเมื่อเวลาผ่านไป และพฤติกรรมการใช้ชีวิต 

 

ด้วยความรู้ปัจจุบัน เห็นชัดเจนว่าไวรัสนั้นมีการพัฒนาตัวเอง ทำให้เกิดการดื้อต่อภูมิคุ้มกันที่มากขึ้น สมรรถนะการแพร่เชื้อที่มากขึ้น ในขณะที่ระดับภูมิหลัง ฉีดวัคซีน ก็ลดลงตามเวลาที่ผ่านไปไม่กี่เดือน

 

ดังนั้นปัจจัยที่พอจะควบคุมได้ ย่อมมีเพียง การใช้ชีวิตประจำวันอย่างมีสติ ไม่ประมาท ป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ ระลึกไว้เสมอว่า ติดเชื้อไม่จบแค่ชิลๆ แล้วหาย แต่ป่วยหนักได้ ตายได้ และที่สำคัญคือเสี่ยงต่อความผิดปกติระยะยาวอย่าง Long COVID ด้วยการใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก

 

ติดตาม คมชัดลึก ที่นี่
Facebook : https://www.facebook.com/komchadluek/
YouTube : https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w


เช็กรายชื่อศิลปินเข้าชิง "คมชัดลึก ลูกทุ่ง Awards 2565" ใครคือ 6 Candidate กับ 8 สาขา Popular Vote ได้ที่นี่


(https://awards.komchadluek.net/#)

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ