โควิด-19

เห็นชอบ กรอบการจัดหา "วัคซีนโควิด" ปีงบ 2566 ให้มี เข็มกระตุ้น สำหรับกลุ่ม 608

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ เห็นชอบ กรอบการจัดหา "วัคซีนโควิด" ปีงบ 2566 ให้มี วัคซีนเข็มกระตุ้น สำหรับกลุ่ม 608 บุคลากรการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า และประชาชนทั่วไป

คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ เห็นชอบนโยบายสนับสนุนการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดซื้อจัดหา "วัคซีนโควิด" โดยเบื้องต้นให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สนใจและมีความพร้อมดำเนินการจัดซื้อจัดหาวัคซีนพื้นฐาน/ที่จำเป็นมาให้บริการประชาชนในพื้นที่ โดย สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และ กรมควบคุมโรค เป็นหน่วยงานสนับสนุนด้านวิชาการ และยังเห็นชอบแนวทางการจัดหา "วัคซีนโควิด" ปี 2566 ใน กลุ่ม 608 และกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมถึงเจ้าหน้าที่ ด่านหน้าและ อสม. ควรได้รับ วัคซีนเข็มกระตุ้น 1 - 2 ครั้งต่อปี

 

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองกรมควบคุมโรค และนายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ร่วมประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2565 โดยมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมทั้งในที่ประชุมและรูปแบบออนไลน์

 

นายอนุทิน ได้กล่าวถึงการเข้าร่วมพิธีเปิด World Bio Summit 2022 พร้อมกับคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ได้มีการหารือทวิภาคีด้านสาธารณสุข การลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงสาธารณสุขไทยกับกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการแห่งสาธารณรัฐเกาหลีว่าด้วยความร่วมมือด้านสาธารณสุข มุ่งเน้นความร่วมมือด้านความมั่นคงด้านสุขภาพ การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ระบบสุขภาพ การดูแลสุขภาพดิจิทัล เพื่อเสริมสร้างระบบสุขภาพให้มีความเข้มแข็ง รวมทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนของทั้งสองประเทศให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงชื่นชมการเข้าเป็นภาคีกับ สถาบันวัคซีนนานาชาติ ในโอกาสที่ได้เข้าร่วมพิธีแสดงสัตยาบัน Thailand - IVI Ratification Ceremony เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งการที่ไทยเข้าร่วมเป็นภาคี IVI จะช่วยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างองค์กร ขยายบทบาทและภารกิจระดับโลกของประเทศไทยในการเข้าถึงวัคซีน โดยมี สถาบันวัคซีนแห่งชาติ เป็นหน่วยงานหลักในการร่วมมือเพื่อเพิ่มความมั่นคงด้าน วัคซีน

 

นพ.โสภณ ได้นำเสนอเรื่องเพื่อพิจารณา เรื่องที่ 1 คือ กรอบการจัดหา "วัคซีนโควิด" ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ว่า จากการที่กรมควบคุมโรคมีเป้าหมายที่จะลดความเสี่ยงการติดเชื้อ ป่วยหนัก และเสียชีวิตจากโรค โควิด19 ในกลุ่มผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป, กลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัวและโรคเรื้อรัง (608) และกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมถึงประชาชนทั่วไปตามความสมัครใจ ซึ่งควรได้รับ วัคซีนเข็มกระตุ้น 1-2 ครั้งต่อปีนั้น แต่เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีคำแนะนำจากองค์การอนามัยโลก จึงต้องติดตามคำแนะนำการให้ "วัคซีนโควิด" ในระยะถัดไปอย่างใกล้ชิด รวมทั้งนำประเด็นเข้าหารือในการประชุมคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค เพื่อให้คำแนะนำสำหรับการให้ "วัคซีนโควิด" อย่างเหมาะสม ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการ

 

ในส่วนของแผนการบริหารจัดการ "วัคซีนโควิด" ในระยะที่เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวังว่า กรมควบคุมโรค ได้มีแผนบริหารจัดการกลุ่มเป้าหมายที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ กลุ่ม 608 กลุ่มเด็กอายุ 6 เดือน - 4 ปี ในสถานพยาบาลรัฐและเอกชน รวมถึงกลุ่ม อสม. โดยเสนอให้มีการจัดหน่วยฉีดวัคซีนหลักประจำจังหวัดและอำเภอ Well baby clinic ในสถานพยาบาลรัฐและเอกชน Group Vaccination อาทิ บ้านพักคนชรา สถานสงเคราะห์ รวมถึงจัดให้มีหน่วยฉีดวัคซีนเคลื่อนที่ พร้อมทั้งเสนอให้มีการจัดกิจกรรม Vaccination Day of the Week 

 

นพ.นคร นำเสนอ สำหรับเรื่องเพื่อพิจารณา เรื่องที่ 2 คือ (ร่าง) นโยบายสนับสนุนการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดซื้อจัดหาวัคซีน เพื่อเป็นนโยบายในการสนับสนุนการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีบทบาทเป็นส่วนเสริมจากแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงวัคซีนให้กับประชาชนในท้องที่ ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการ โดยมอบหมายให้ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และ กรมควบคุมโรค เป็นผู้ประสานการดำเนินงาน

 

จากนั้น นพ.นคร นำเสนอเกี่ยวกับความก้าวหน้าการวิจัยพัฒนา วัคซีน ป้องกัน โควิด19 ในประเทศไทย ขณะนี้ว่า มี "วัคซีนโควิด" ที่ได้ทำการทดสอบในมนุษย์แล้ว จำนวน 4 ชนิด ได้แก่ 

 

1. "วัคซีนโควิด" ชนิด NDV-HXP-S โดยองค์การเภสัชกรรม 

2. วัคซีน ChulaCov19 ชนิด mRNA โดยศูนย์วิจัยวัคซีนแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

3. "วัคซีนโควิด" ชนิดดีเอ็นเอ โดยบริษัทไบโอเนท-เอเชีย จำกัด 

4. วัคซีน Baiya SARS-CoV-2 Vax ชนิด Recombinant โดยบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด 

 

ขณะที่ "วัคซีนโควิด" รูปแบบพ่นจมูก โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ใกล้เข้าสู่การทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1

 

อนุทิน ชาญวีรกูล

 

ติดตาม คมชัดลึก ที่นี่
Facebook : https://www.facebook.com/komchadluek/
YouTube : https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ