โควิด-19

"โมลนูพิราเวียร์" อาจทำให้เกิด คลัสเตอร์สายพันธุ์ใหม่ แตกออกมาจาก BM.2

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ดร.อนันต์" เปิดข้อมูลงานวิจัย พบ ยาต้านไวรัส "โมลนูพิราเวียร์" อาจมีส่วนทำให้เกิด คลัสเตอร์สายพันธุ์ใหม่ แตกออกมาจาก สายพันธุ์ BM.2 ลูกหลานของ BA.2.75

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ไบโอเทค สวทช. โพสต์เฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana เปิดข้อมูลจากทีมวิจัยในออสเตรเลียรายงานคลัสเตอร์ของไวรัส SARS-CoV-2 ที่แตกมาจาก สายพันธุ์ BM.2 (ลูกหลานของ BA.2.75) โดยกลุ่ม คลัสเตอร์ใหม่ (ตอนนี้รายงานออกมา 9 คน) มีการเปลี่ยนแปลงในจีโนมของไวรัสหลายตำแหน่งแบบกระจัดกระจาย โดยมีการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงเชิงลึกแล้ว มีความเป็นไปได้ว่า สายพันธุ์ คลัสเตอร์ใหม่ มีโอกาสเกิดจากการใช้ ยาต้านไวรัส "โมลนูพิราเวียร์" (MV) ที่ก่อการกลายพันธุ์แบบสุ่ม

 

โดย 8 ตำแหน่งที่เปลี่ยนอยู่ในโปรตีนหนามสไปค์เพิ่มจากการเปลี่ยนแปลงใน BM.2 ไปอีก (D111N, S151N, V289I, T549I, D574N, A701V, L841F, V1230M) ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยมีรายงานมาก่อน เนื่องจาก BM.2 เป็นสายพันธุ์ที่ค่อนข้างใหม่ ค้นพบเมื่อไม่น่าจะเกิน 2 เดือน การที่พบสายพันธุ์ที่แตกกิ่งออกมาแบบนี้ทำให้มีหลายคนสงสัยว่าเกิดจากอะไร 

 

หลักฐานที่เหมือนจะสนับสนุนสมมติฐานนี้คือ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสารพันธุกรรมของไวรัสคลัสเตอร์ใหม่ 42 ตำแหน่ง เป็นการเปลี่ยนจากเบส C—>T 19 ตำแหน่ง,  G—>A 18 ตำแหน่ง, A—>G 4 ตำแหน่ง และ C เป็น A เพียงตำแหน่งเดียว โดยทั่วไปการเปลี่ยนแปลงของเบสจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ transitions และ transversions โดยจากภาพด้านล่าง จะเห็นว่า T—>C, C—>T, A—>G และ G—>A เป็น transitions ส่วนการเปลี่ยนแปลงอื่นๆนอกจากนี้คือ transversions หมด ซึ่งคงไม่อธิบายในรายละเอียดความแตกต่าง แต่อยากชี้ประเด็นสำคัญว่า การทำงานของ "โมลนูพิราเวียร์" คือ การก่อการ กลายพันธุ์ ในรูปแบบของ transitions ในสารพันธุกรรมของไวรัสเป็นส่วนใหญ่ โดยไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบ transitions แตกต่างจากที่พบในธรรมชาติ

 

การเปลี่ยนแปลงของสารพันธุกรรม

 

ดังนั้นการที่พบไวรัสที่มีการ กลายพันธุ์ แบบเกิด transitions เยอะๆ กว่าปกติ 41 ใน 42 ตำแหน่งที่เกิดใหม่เป็น transitions จึงทำให้คนมองว่าไม่ปกติ

 

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ การเปลี่ยนแปลงแบบเกิดขึ้นกระจัดกระจายแบบไม่ไปมุ่งเป้าที่ตำแหน่งในโปรตีนสไปค์ใช้หนีภูมิ ทำให้คิดว่าไวรัสไม่ได้มีปัจจัยผลักดันจากภูมิคุ้มกันให้เปลี่ยนตัวเองเพื่อหนีภูมิได้ดีขึ้นเหมือนกรณีอื่นๆ ซึ่งเป็นเหตุผลที่น่าฟังว่า ไวรัสเปลี่ยนไปด้วยปัจจัยอื่น

 

อันนี้เป็นบทวิเคราะห์จากนักวิจัยหลายคนที่ไปดูการเปลี่ยนแปลงจากข้อมูลของไวรัสนะครับ (ไม่ใช่ของผมเอง) ไม่ใช่หลักฐานตรงว่าไวรัส คลัสเตอร์ใหม่ นี้เกิดจากการใช้ "โมลนูพิราเวียร์" ในการรักษาหรือไม่ ยังไม่สามารถสรุปได้ และ ยังไม่มีข้อมูลว่าไวรัสคลัสเตอร์ใหม่นี้จะมีคุณสมบัติอะไรพิเศษต่างจาก BM.2 เดิมหรือไม่ คงต้องรอข้อมูลเพิ่มเติม

 

งานวิจัย

BM.2

 

อ้างอิง

ข้อมูล : เฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana 

 

ติดตาม คมชัดลึก ที่นี่
Facebook : https://www.facebook.com/komchadluek/
YouTube : https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ