โควิด-19

"โอไมครอน" กับความเสี่ยงปัญหา Long COVID ทาง สมอง ระบบประสาท จิตเวช

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หมอธีระ เปิดผลประเมิน ผู้ติดเชื้อ "โอไมครอน" ความเสี่ยงปัญหา "Long COVID" ส่งผลให้เกิด โรคทางสมอง ระบบประสาท จิตเวช การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุด

หมอธีระ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ค Thira Woratanarat อัปเดตสถานการณ์การระบาด "โอไมครอน" เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 726,449 คน ตายเพิ่ม 1,837 คน รวมแล้วติดไป 597,589,917 คน เสียชีวิตรวม 6,461,665 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา อิตาลี และฝรั่งเศส พร้อมผลการประเมินความเสี่ยงของปัญหา Long COVID ที่ส่งผลให้เกิด โรคทางสมอง ระบบประสาท และ จิตเวช

 

ล่าสุด Taquet M และคณะ จากมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด สหราชอาณาจักร ได้เผยแพร่ผลการศึกษาในวารสารการแพทย์ The Lancet Psychiatry ถือเป็นงานวิจัยที่ศึกษาย้อนหลัง 2 ปี ในกลุ่มประชากรขนาดใหญ่มากถึงเกือบ 1.3 ล้านคนจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก ทั้งยุโรป เอเชีย และอเมริกา ครอบคลุมตั้งแต่เด็ก วัยรุ่น วัยทำงาน และผู้สูงอายุ โดยทำการประเมินความเสี่ยงของปัญหา Long COVID ที่ส่งผลให้เกิด โรคทางสมอง ระบบประสาท และ จิตเวช 

 

สาระสำคัญคือ

 

1. "โอไมครอน" ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อปัญหา Long COVID ด้าน สมอง ระบบประสาท และ จิตเวช ไม่ต่างจากเดลต้า หรือสายพันธุ์ก่อนหน้า

 

2. ผู้ที่ติดเชื้อโรค โควิด19 มีความเสี่ยงต่อภาวะผิดปกติด้านอารมณ์ เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล ฯลฯ แต่ความเสี่ยงจะค่อยๆ ลดลงสู่ปกติภายในเวลา 2-3 เดือน

 

3. ผู้ที่ติดเชื้อโรค โควิด19 จะมีความเสี่ยงต่อปัญหาทางสมองและระบบประสาท เช่น ปัญหาด้านความคิดความจำ สมาธิ สมองเสื่อม โรคจิต โรคลมชัก ฯลฯ มากกว่าปกติยาวนานจนถึง 2 ปีที่ทำการศึกษา (ซึ่งอาจนานกว่า 2 ปี หากมีการศึกษาต่อในอนาคต)

 

ผลการศึกษานี้เป็นที่สนใจของทั่วโลก เพราะชี้ให้เห็นว่าปัญหา Long COVID นั้นเป็นเรื่องสำคัญ และภาวะผิดปกติต่อสมอง ระบบประสาท รวมถึงจิตใจและอารมณ์นั้นเกิดขึ้นได้หลากหลาย โดยความเสี่ยงต่อหลายโรคนั้นคงอยู่ยาวนานถึง 2 ปี หรืออาจมากกว่านั้น ที่สำคัญคือการติดเชื้อสายพันธุ์ "โอไมครอน" ก็มีความเสี่ยงต่อภาวะต่างๆ ดังกล่าว ไม่ได้น้อยกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้าเลย

 

นอกจากระบบ สาธารณสุขของแต่ละประเทศต้องเตรียมรับมือ จัดระบบบริการที่จะสามารถให้การตรวจคัดกรอง ดูแลรักษา และฟื้นฟูสภาพแล้ว แต่ละประเทศยังจำเป็นต้องพิจารณาระบบสนับสนุนทางสังคมเพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้ป่วยต่างๆ ที่ประสบปัญหาข้างต้น ให้สามารถดำรงชีวิตประจำวันไปได้ด้วย

 

สำหรับประชาชนที่เคยติดเชื้อมาก่อน ก็ควรมีความรู้เท่าทัน หมั่นประเมินสุขภาพของตนเอง ทั้งเรื่องความคิดความจำ สมาธิ อารมณ์ หากผิดปกติไปจากอดีต ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและให้การดูแลรักษาอย่างเหมาะสมและทันท่วงที

 

...การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุด ใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง เป็นหัวใจสำคัญ...

 

อ้างอิง

Taquet M et al. Neurological and psychiatric risk trajectories after
SARS-CoV-2 infection: an analysis of 2-year retrospective
cohort studies including 1284437 patients. The Lancet Psychiatry. 17 August 2022.

 

ติดตาม คมชัดลึก ที่นี่
Facebook : https://www.facebook.com/komchadluek/
YouTube : https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w


เช็กรายชื่อศิลปินเข้าชิง "คมชัดลึก ลูกทุ่ง Awards 2565" ใครคือ 6 Candidate กับ 8  สาขา Popular Vote ได้ที่นี่


(https://awards.komchadluek.net/#)

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ