โควิด-19

"โอไมครอน" BA.4 - BA.5 แพร่เชื้อเร็วรุนแรงกว่าเดิม สัปดาห์ที่แล้วพบ 68%

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดข้อมูล "โอไมครอน" BA.4 - BA.5 แพร่เชื้อเร็วขึ้น รุนแรงกว่า BA.2 ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาพบ 68% ส่วนใหญ่เป็น BA.5

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงสถานการณ์การเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19 ว่า ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาวันที่ 16-22 ก.ค. 2565 มีการตรวจเฝ้าระวังสายพันธุ์ โควิด 468 ราย พบว่าเป็น "โอไมครอน" สายพันธุ์ BA.4 BA.5 จำนวน 320 ราย คิดเป็น 68.38% ถือว่าแซงสายพันธุ์ BA.2 ที่เคยครองการระบาดก่อนหน้านี้ คิดเป็น 30.56% และยังเจอสายพันธุ์ BA.1 อีก  1.07%

 

โดยการเก็บตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ เนื่องจากเราไม่ได้ตรวจผู้เดินทางเข้าประเทศ ตรวจเฉพาะเมื่อมีอาการ สำหรับสายพันธุ์ BA.4 - BA.5 พบว่าสัดส่วนอยู่ใน กทม.มากกว่า คือ 80% ภูมิภาค 60% แนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ BA.1 และ BA.2 แล้วแพร่เร็วกว่า สอดคล้องกับสถานการณ์ที่มีคนติดเชื้อมากขึ้น

 

ทั้งนี้ จากการถอดรหัสพันธุกรรมพบ BA.5 เยอะกว่าประมาณ 3 ต่อ 1 เมื่ออนุมานกลับไปก็น่าจะเป็น BA.4 ประมาณ 25% และ BA.5 ประมาณ 75%

 

ส่วน BA.4/BA.5 รุนแรงขึ้นหรือไม่ เปรียบเทียบกลุ่มอาการไม่รุนแรงและรุนแรงว่าเจอ BA.4-BA.5 มากน้อยเท่าไร ซึ่งจากการตรวจช่วงวันที่ 16-22 ก.ค. 2565 ในส่วนของพื้นที่ กทม. ผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง 122 ราย เจอ BA.4-BA.5 77.05% กลุ่มอาการรุนแรง คือ ปอดบวม ใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิต จำนวน 54 ราย เจอ 87.04%

 

ขณะที่พื้นที่ต่างจังหวัด กลุ่มอาการไม่รุนแรง 345 ราย เจอ 55.61% กลุ่มรุนแรง จำนวน 53 ราย เจอ 73% ถือว่าอาการรุนแรงมีสัดส่วนสูงกว่า อนุมานว่าถ้าติดเชื้อ BA.4-BA.5 น่าจะมีโอกาสอาการรุนแรงเพิ่มเติมมากกว่า แต่ไม่สามารถบอกได้ว่ารุนแรงกี่เปอร์เซ็นต์

 

สำหรับสายพันธุ์ BA.2.75 หากดูจากตำแหน่งการกลายพันธุ์ คือ G446S และ Q493R ทำให้เกิดการจับกับเซลล์ปอดมนุษย์มากขึ้น ทำให้
ห่วงว่าแพร่ค่อนข้างเร็ว หรือหลบภูมิคุ้มกันได้
อาจติดเชื้อซ้ำหรือวัคซีนมีประสิทธิผลลดลง แต่ทั้งหมดเป็นการดูจากตำแหน่งการกลายพันธุ์ ยังไม่มีข้อมูลจริงว่าเกิดมากน้อยแค่ไหน

 

ส่วนที่พบ BA.2.75 จำนวน 1 ราย คาดว่าอาจจะมีมากกว่านี้ การตรวจจับนั้นในการตรวจเบื้องต้นเรายังไม่สามารถตรวจ BA.2.75 ได้ หากเจอที่ไม่เข้ากับตัวเดิม ก็จะให้ส่งมาถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว แต่ประมาณสัปดาห์หน้าจะผลิตน้ำยาตรวจเฉพาะ BA.2.75 ออกมาเพื่อให้พื้นที่ตรวจเบื้องต้นได้เร็วขึ้น

 

ขณะนี้ข้อมูลใน GISAID พบรายงาน BA.2.75 ทั่วโลกประมาณ 538 ราย เพิ่มขึ้นจากวันที่ 20 ก.ค. ที่พบประมาณ 300 กว่าราย ถือว่าขึ้นมาอยู่บ้าง แต่ไม่ได้ขึ้นมากมายอะไร ต้องจับตาดูต่อไป ส่วนกรณีข้อกังวลว่าภูเก็ตมีนักท่องเที่ยวอินเดียจำนวนมาก ซึ่งประเทศอินเดียมี BA.2.75 จำนวนมากนั้น เราจะขอให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ จ.ภูเก็ต เฝ้าระวังหากเห็นความผิดปกติหลังตรวจเบื้องต้นก็จะส่งมาถอดว่าใช่ BA.2.75 หรือไม่

 

ติดตาม คมชัดลึก ที่นี่
Line : https://lin.ee/qw9UHd2
YouTube : https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ