รู้แล้ว ทำไมคน "ติดโควิด" กิน ยาต้านไวรัส หายแล้ว กลับมาเป็นใหม่
รู้แล้ว ทำไมคน "ติดโควิด" กิน ยาต้านไวรัส หายแล้ว กลับมาเป็นใหม่ หมอดื้อ เผย เกิดจาก 3 ลักษณะ ยาสองชนิด ไม่แตกต่างกัน
จากกรณีที่ นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ยกเคสผู้ป่วย ติดโควิด รับประทานยาต้านไวรัส "โมลนูพิราเวียร์" จนครบคอร์ส ตรวจ ATK เป็นลบ จากนั้นอีก 2-8 วัน ตรวจ ATK อีกครั้ง กลับเจอการ ติดเชื้อใหม่ หรือ COVID-19 rebound
"หมอดื้อ" ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ให้ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊ก
ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha กรณี ติดโควิดได้รับยาต้านไวรัสไปแล้ว กลับมาใหม่อีก โดยระบุว่า การรายงานจากสหรัฐ (preprint) วิเคราะห์ข้อมูลระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2022 ถึงวันที่ 8 มิถุนายน 2022 ซึ่งเป็นช่วงของโอไมครอน รักษาด้วย แพ็กซ์โลวิด paxlovid 11,270 ราย หรือรักษาด้วย โมลนูพิราเวียร์ molnupiravir 2,374 ราย ภายในระยะเวลา 5 วัน หลังจากมีการติดเชื้อ
การกลับมาใหม่ หรือ rebound มีสามลักษณะคือ
- มีเชื้อกลับมาใหม่ จากการตรวจ
- มีอาการกลับมาใหม่ ได้แก่ ไข้ หนาวสั่น ไอ หายใจไม่เต็มอิ่ม เหนื่อยล้า ปวดกล้ามเนื้อปวดหัว เจ็บคอ จมูกคัด น้ำมูกไหล ไม่รับรส กลิ่น อาเจียน ท้องเสีย ผื่น
- ต้องเข้าโรงพยาบาล
ลักษณะที่กลับมาใหม่ไม่แตกต่างกันของการใช้ยา paxlovid หรือ molnupiravir คนที่มีโรคประจำตัวจะมีการกลับมาใหม่มากกว่า
สำหรับ paxlovid
ที่ 7 วัน และ 30 วัน
- ลักษณะที่หนึ่ง 3.53% และ 5.4%
- ลักษณะที่สอง 2.31 % และ 5.87%
- ลักษณะ ที่ สาม 0.44% และ 0.77%
สำหรับ molnupiravir
ที่ 7 และ 30 วัน
- ลักษณะที่หนึ่ง 5.86% และ 8.59%
- ลักษณะที่สอง 3.75% และ 8.21%
- ลักษณะที่สาม 0.84% และ 1.39%
เมื่อดูผิวเผิน คล้ายกับการใช้ molnuvipavir จะมีการกลับมาใหม่มากกว่า แต่เมื่อวิเคราะห์ propensity score matching ซึ่งเป็นวิธีจัดการกับตัวแปร และปัจจัยต่าง ๆ เพื่อให้มีความน่าเชื่อถือแม่นยำมากขึ้นในการระบุความเสี่ยง จะพบว่า ความเสี่ยงระหว่างการใช้ยาทั้งสองชนิดนี้ไม่แตกต่างกัน แต่ขึ้นกับภาวะหรือโรคประจำตัวของผู้ติดเชื้อ มีโรคหัวใจ ความดันสูง มะเร็งโรคอัมพฤกษ์ โรคปอด โรคไตโรคตับ อ้วน เบาหวาน โรคทางระบบภูมิคุ้มกัน การได้รับการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ รวมถึงการให้ยาต้านภูมิคุ้มกัน และไม่เกี่ยวพันกับการได้รับวัคซีนหรือไม่
สาเหตุกลไกของการกลับมาใหม่ “ไม่ทราบแน่ชัด” แต่อาจเกี่ยวเนื่องกับการรักษา ไม่สามารถกำจัดไวรัสไปได้อย่างหมดจด หรือไวรัสดื้อยา?
อย่างไรก็ตาม การให้ยาต้านไวรัสอย่างสมเหตุสมผลตามลักษณะของอาการที่เป็นมากขึ้น โดยในคนไทยที่ใช้ฟ้าทะลายโจรแล้วนั้น ไม่ดีขึ้นภายในระยะเวลาสองวัน มีความจำเป็นต้องใช้ยาต้านไวรัส เพื่อป้องกันไม่ให้อาการหนักมากขึ้นจนกระทั่งถึงต้องเข้าโรงพยาบาล
เพื่อไม่พลาด ข่าวสารต่างๆ คมชัดลึก ไปที่
Youtube - https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w
LineToday - https://today.line.me/th/v2/publisher/100057