โควิด-19

"โอไมครอน" BA.5 ทำป่วยนอน รพ.พุ่งกว่า BA.2 ถึง 1.65 เท่า long covid หนักหน่วง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"โอไมครอน"Omicron BA.5 หมอธีระ เผยข้อมูล ทำป่วยนอนโรงพยาบาล พุ่งกว่า BA.2 ถึง 1.65 เท่า long covid หนักหน่วง เปิด เพศ ช่วงอายุ เจอสูงสุด

(22 ก.ค.2565) รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ หรือ "หมอธีระ" คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat อัปเดตสถานการณ์โควิดรายวัน ระบุว่า เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 808,306 คน ตายเพิ่ม 1,517 คน รวมแล้วติดไป 572,287,840 คน เสียชีวิตรวม 6,397,591 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส อิตาลี และเกาหลีใต้

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 6 ใน 10 อันดับแรก และ 12 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 65.88 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 43.5

 

สถานการณ์ระบาดของไทย

จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 13 ของโลก และอันดับ 4 ของเอเชีย แม้ สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.
จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม

 

อัปเดตความรู้โควิด-19

1. "BA.5" มีความรุนแรงกว่า BA.2 ถึง 1.65 เท่า

งานวิจัยล่าสุดจากประเทศเดนมาร์ก โดย Hansen CH และคณะ เผยแพร่ใน SSRN เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2022 ที่ผ่านมา ทำการศึกษาในประชากรทั่วประเทศ อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ซึ่งติดเชื้อโรคโควิด-19 ในช่วง 10 เมษายนถึง 20 มิถุนายน 2022 สาระสำคัญพบว่า "โอไมครอน" Omicron สายพันธุ์ย่อย BA.5 (ซึ่งระบาดทั่วโลกขณะนี้) มีความรุนแรงจนทำให้ป่วย จนต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล มากกว่าสายพันธุ์ย่อย BA.2 (ซึ่งระบาดมาก่อน BA.5) ถึง 65% (หรือ 1.65 เท่า) ผลการศึกษานี้อธิบายปรากฏการณ์ปัจจุบัน ที่เราพบว่า นอกจาก BA.5 จะแพร่เชื้อติดเชื้อกันได้ง่ายกว่าเดิมแล้ว ยังทำให้มีคนป่วยจนต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลมากขึ้นทั่วโลก เพราะ BA.5 มี severity มากกว่า BA.2 

โอไมครอน BA.5 แรงกว่า BA.2

อย่างไรก็ตาม คงต้องติดตามผลการศึกษาจากที่อื่น ๆ ด้วยว่า ได้ผลสอดคล้องกับที่เดนมาร์กหรือไม่ หากสอดคล้องกัน ก็จะมีความมั่นใจมากขึ้น ทั้งนี้ การป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอเวลาใช้ชีวิตประจำวัน การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องนั้นสำคัญมาก

 

2. "Long COVID is real"

Sorensen AIV และคณะจากประเทศเดนมาร์ก ทำการสำรวจในประชากรทั่วประเทศจำนวน 430,173 คน อายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป เกี่ยวกับอาการผิดปกติหลังการติดเชื้อโรคโควิด-19 (Long COVID or PASC)เผยแพร่ในวารสาร Nature Communications วันที่ 21 กรกฎาคม 2022 ที่ผ่านมา สาระสำคัญพบว่า ความผิดปกติหลังติดเชื้อโรคโควิด-19 นั้น พบได้มากมายหลากหลายอาการ แม้ในผู้ที่ติดเชื้อโดยไม่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลก็ตาม และผู้ที่มีอาการผิดปกตินั้น ก็มีอาการคงค้างยาวนานไปถึงอย่างน้อย 1 ปีในสัดส่วนที่สูง คนที่เป็นเพศหญิง และคนที่อยู่ในช่วงวัยกลางคนขึ้นไป จะเสี่ยงต่อปัญหา Long COVID มากกว่ากลุ่มอื่น กลุ่มที่ติดเชื้อพบว่าประสบปัญหาเรื่องสมรรถนะทางกายอ่อนล้า สมรรถนะทางจิตใจอ่อนล้า ไม่มีสมาธิ ปัญหาด้านความจำ และปัญหาการนอนหลับ มากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ติดเชื้ออย่างมีนัยสำคัญ โดยมีความเสี่ยงสูงกว่าถึง 40.45%, 32.58%, 28.34%, 27.25%, และ 17.27% ตามลำดับ

 

 

ดังนั้น การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุด การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นมีความจำเป็น และวัคซีนจะช่วยป้องกัน Long COVID ได้ราว 15% การใส่หน้ากากสำคัญมาก และจะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไปได้มาก

โอไมครอน

 

 

ติดตาม คมชัดลึก ที่นี่
Line: https://lin.ee/qw9UHd2
YouTube: https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ