โควิด-19

"โมลนูพิราเวียร์" ทำ หมอ งง ซื้อรัฐราคาหลักหมื่น หมอ หาซื้อเอง แค่หลักพัน

20 ก.ค. 2565

"หมอดื้อ" งง "โมลนูพิราเวียร์" รพ.เอกชนซื้อรัฐ ราคาหลักหมื่น หมอ หาซื้อเอง แค่หลักพัน ทำไงจะได้ราคาถูกแบบนี้ สั่งจ่ายได้เลย

(20 ก.ค.2565) "หมอดื้อ" ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์เฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha ระบุว่า ขอร้องทางการช่วยทำให้โควิดเป็นเรื่องปกติ(ด้วยความเคารพครับ)

 

น้อง ๆ หมอบอกว่า โรงพยาบาลเอกชน สั่งซื้อ "โมลนูพิราเวียร์" ทำจากอินเดีย ยี่ห้อ mylan จากทางการไทย ได้ราคาชุดละ 10,600 บาท แต่หมอกันเองซื้อกัน ประมาณ 2,000 กว่าบาท ต่อชุด (40 เม็ด) หรือถูกกว่า จาก สปป ลาว เขมร อินเดีย (ยี่ห้อ เดียวกัน) เวียตนาม 

 

ประเทศเหล่านี้ขอความยินยอมจากบริษัทในการผลิตยาเองตั้งแต่ต้น ทำอย่างไรประเทศไทยถึงจะได้ราคาถูกแบบนี้ และสามารถสั่งจ่ายได้เลย ทั้งที่โรงพยาบาลทุกแห่ง และที่สำคัญก็คือ "ร้านขายยา" ทุกแห่ง ทั้งนี้ หลักเกณฑ์คือสีเหลืองขึ้นไป ไม่ใช่ใช้เกินความจำเป็น จะได้ไม่ต้องกังวลเรื่องดื้อยา และไม่ต้องกังวลว่าจะมียาปลอมหรือไม่

 

"หมอ" ระบุว่า คนที่รู้จักสนิทกลับมาจากเวียดนามสองวันที่แล้ว ยืนยันราคาตามนี้ขายตามร้านขายยาทั่วไป คนในประเทศเห็นเป็นเรื่องปกติแล้วไม่สบายซื้อยา และได้ยาตามความเหมาะสมเลย ไม่ใช่รออาการหนัก จนยาเหล่านี้ไม่ได้ผล (เพราะต้องใช้แต่เนิ่นๆ) และไม่ต้องหามเข้าโรงพยาบาลที่ไม่มีเตียง
ถ้าทางการมีการติดต่ออย่างจริงจัง เราก็น่าจะได้ผลบุญเช่นนี้นะครับ

สำหรับยาต้านไวรัสชนิดรับประทาน ที่กรมการแพทย์กำหนดไว้ในแนวทางการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 เมื่อวันที่ 1 เม.ย.65 จะมี 3 ชนิด คือ ยาฟาวิพิราเวียร์ ยาโมลนูพิราเวียร์ และยาแพ็กซ์โลวิด โดยค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ในส่วนของยาโมลนูพิราเวียร์ที่จัดซื้อจากบริษัทเมอร์ค (Merck) ราคา 10,000 บาทต่อคอร์ส ประสิทธิภาพลดความรุนแรงได้ถึง 30-50%

 

 

ขณะที่ บริษัทเมอร์ค มีการยกสิทธิบัตรให้กับประเทศที่รายได้ต่ำ เพื่อให้ผลิตได้เอง ทั้งนี้ ประเทศไทยจัดซื้อ 50,000 คอร์ส เป็นมูลค่า 500 ล้านบาท ขณะที่ประเทศลาว นำเข้าในราคาไม่ถึงคอร์สละ 1,000 บาท และอินเดียผลิตได้เอง โดยได้รับสิทธิบัตรจากบริษัทเมอร์ค อย่างไรก็ตาม สำหรับบริษัทนำเข้ายาในประเทศไทย ยังติดปัญหาเรื่องสิทธิบัตรการนำเข้ายาโมลนูพิราเวียร์ ตามที่บริษัทผู้ผลิตได้ออกข่าวดังกล่าวมา

 

ทั้งนี้ สำหรับยาโมลนูพิราเวียร์ มีงานวิจัยต้นทุนการผลิตจริงๆ ระบุว่า ไม่ควรเกิน 600 บาทต่อคอร์สสอดคล้องกับที่อินเดีย ผลิตในราคา 400-500 บาทต่อคอร์ส 

 

ติดตาม คมชัดลึก ที่นี่
Line: https://lin.ee/qw9UHd2
YouTube: https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w