โควิด-19

"โอไมครอน" BA.4 - BA.5 ต้องกังวลแค่ไหน ในวัน ถอดแมสก์ เช็คก่อนใช้ชีวิตปกติ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"โอไมครอน" Omicron สายพันธุ์ย่อย BA.4 - BA.5 ต้องกังวลแค่ไหน ในวัน "ถอดแมสก์" เช็คก่อนใช้ชีวิตปกติ หลังส่งสัญญาณ แรง เร็ว และ จ่อแทนที่ BA.2 เร็ว ๆ นี้

หลังจากที่เริ่มมีรายงานข่าวว่า พบไวรัสโควิด สายพันธุ์โอมิครอน "โอไมครอน" Omicron ที่เป็นสายพันธุ์ย่อยใหม่ ชื่อว่า สายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ระบาดมากขึ้นในหลายประเทศ และล่าสุด ก็มีพบจำนวนหนึ่งในประเทศไทยเราด้วย ทำให้เริ่มเกิดคำถามว่า เราจะต้องกังวลเกี่ยวกับเชื้อตัวนี้ มากน้อยแค่ไหน? ต้องเตรียมการรับมืออะไรเป็นพิเศษหรือเปล่า? ในวันที่มีการ ผ่อนคลายมาตรการ "ถอดแมสก์" ได้โดยสมัครใจ

"อ.เจษฎ์" รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ โพสต์ข้อความ สรุปรวบรวมข้อมูลมาให้พิจารณา

 

วิวัฒนาการโควิดสายพันธุ์ "โอไมครอน"

 

  • โควิดสายพันธุ์โอไมครอนนั้น มีวิวัฒนาการกลายพันธุ์ไปเรื่อย ๆ อย่างเช่น สายพันธุ์ย่อย BA.2 ซึ่งระบาดเป็นหลักในประเทศไทยเราช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา
  • แต่ตอนนี้ มันก็มีวิวัฒนาการไปอีก เป็นสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ซึ่งมีอัตราการแพร่ระบาดที่เร็วขึ้นกว่าเดิม มีแนวโน้มที่จะติดเชื้อในปอดได้มากขึ้น ซึ่งในทางทฤษฎีแล้วมันอาจจะเป็นตัวที่อันตรายขึ้นกว่าโอมิครอนเดิม (คือ BA.2) แม้ว่าจะยังไม่มีหลักฐานโดยตรง ว่ามันทำให้เกิดอาการของโรคที่ซีเรียสขึ้นจริง

 

โอไมครอน สายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 รุนแรงแค่ไหน

 

  • แม้จะฟังดูน่ากังวล แต่ก็ยังไม่มีสัญญาณบ่งชี้ว่า มันจะทำให้เกิด "คลื่น (wave)" การแพร่ระบาดใหญ่ และมีผู้เสียชีวิตมากมายขึ้นอีก แต่อาจจะมีการเพิ่มขึ้นบ้างพอเห็นเป็นพีค และผู้ที่จะเสี่ยงชีวิตกับเชื้อนี้ ก็ยังคงเป็นกลุ่มที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน หรือไม่เคยติดเชื้อโควิดมาก่อน
  • ตอนนี้ สายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโควิดกว่า 97% ที่ระบาดอยู่ทั่วโลกนั้น เป็นโอไมครอน โดยมีสายพันธุ์ย่อย BA.2 มากที่สุด (39% ของพวกโอไมครอนทั้งหมด) ขณะที่สายพันธุ์ย่อย BA.2.12.1 มีอยู่ 28%,   BA.5 มี 6%, และ  BA.4 มี 3%

โอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4

 

ติดตามกระแสโซเชี่ยลเพิ่มเติม : https://www.facebook.com/komchadluek/

  • แต่การที่สายพันธุ์ย่อยหลัง ๆ นั้น เริ่มมีมากขึ้น และอาจจะเข้าแทนที่ BA.2 ได้ องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงกำหนดให้พวกมันเป็น สายวิวัฒนาการ ที่กำลังจับตามอง ของสายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variant of Concern lineages under monitoring)
  • มีรายงานการระบาดของ  BA.4 และ BA.5 ในประเทศอัฟริกาใต้ และประเทศโปรตุเกส ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นจนเป็นพีค และตอนนี้ก็มีรายงานว่า เชื้อทั้ง 2 สายพันธุ์ย่อยนี้ มีอัตราส่วนเพิ่มมากขึ้น ในประเทศยุโรปอื่น ๆ รวมทั้งในสหรัฐอเมริกา โดยมีแนวโน้มว่า อาจจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักในอนาคต
  • ประเด็นที่นักวิทยาศาสตร์กังวลกันของเชื้อพวกนี้ (ทั้ง BA.4 ,  BA.5 และ BA.2.12.1) ก็คือการกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นที่ยีนโปรตีนหนาม ในตำแหน่ง LR452 ที่อาจจะเป็นตัวการทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์ย่อยเดิม 
  • รวมทั้ง พวกมันเหมือนจะติดเชื้อที่เนื้อเยื่อปอดได้มากขึ้น ซึ่งคล้ายคลึงกับสายพันธุ์อื่น ๆ อย่าง อัลฟ่า Alpha หรือ เดลตา Delta (โอไมครอนตัวเก่า อย่างสายพันธุ์ย่อย BA.1 และ BA.2 มักจะติดเชื้อที่เนื้อเยื่อทางเดินหายใจตอนบน  เช่น เซลล์บุในโพรงจมูก มากกว่า
  • ข้อมูลเบื้องต้นจากงานวิจัยของ  Kei Sato และคณะที่มหาวิทยาลัยโตเกียว แสดงให้เห็นว่า  BA.4/5 และ BA.2.12.1 นั้นเพิ่มจำนวนในเซลล์ปอดของคน ได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่า BA.2
  • ส่วนการทดลองของพวกเขา ในหนูแฮมสเตอร์ ก็พบว่า BA.4 และ BA.5 สามารถทำให้เกิดอาการป่วยรุนแรงได้ (แม้ว่าจะยังไม่มีหลักฐานในมนุษย์ก็ตาม) รวมถึงการที่มันเพิ่มจำนวนได้มากขึ้น และอาจจะดื้อต่อภูมิคุ้มกันของร่างกายหนู ที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อก่อนหน้านั้น
  • เป็นไปได้ว่า ที่ BA.4 และ BA.5 จะมาแทนที่สายพันธุ์อื่นได้นั้น เนื่องจากว่ามันมีความสามารถในการที่จะหลบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ที่เกิดจากการที่เคยติดเชื้อหรือจากการฉีดวัคซีน จนทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำได้
  • อย่างไรก็ตาม วัคซีนก็ยังเป็นเกราะป้องกันที่ดี ต่อการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตจากเชื้อพวกนี้ การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นบูสเตอร์ ก็ยังมีแนวโน้มที่จะสามารถช่วยเสริมระดับภูมิคุ้มกันในร่างกาย ในการรับมือกับสายพันธุ์ย่อยใหม่นี้

 

สรุป เชื้อโควิดโอไมครอน สายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 อยู่ในกลุ่มของเชื้อที่ต้องจับตามอง ว่าจะมาแทนที่สายพันธุ์ย่อยเดิม อย่าง BA.2 เมื่อไหร่ ซึ่งการคาดการณ์ที่มีอยู่ขนาดนี้ ยังไม่มีตัวชี้บ่งว่า จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดที่รุนแรง และมีผู้เสียชีวิตมาก เหมือนช่วงปีก่อน ๆ การฉีดวัคซีน และฉีดกระตุ้น ยังเป็นแนวทางที่ดีที่สุด ในการปกป้องตนเองและสังคม จากการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต ด้วยสายพันธุ์ย่อยเหล่านี้

 

 

ขณะที่ข้อมูลจาก Sigallab ประเทศแอฟริกาใต้ ยืนยันว่า ภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อสายพันธุ์เดิมของ "โอไมครอน" คือ BA.1 นั้น ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อของสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 ได้ ด้วยความรู้จนถึงตอนนี้ BA.4 และ BA.5 น่าจะมีโอกาสที่จะนำไปสู่การแพร่ระบาดใหม่ (new wave) ได้ หากไม่ป้องกันให้ดี เพราะมีสมรรถนะในการแพร่ได้ไวกว่า BA.2 และดื้อต่อภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการติดเชื้อสายพันธุ์ดั้งเดิมของ "โอไมครอน" BA.1 เชื่อว่า สายพันธุ์ทั้งสองน่าจะมาจากการมีแหล่งที่เพาะบ่มการติดเชื้อเป็นเวลานาน เช่น คนที่ติดเชื้อเรื้อรัง (chronic infection) หรือมาจากสัตว์ที่เป็นรังโรค (reservoir)

 

 

และนอกจากการแพร่ระบาดที่เร็วขึ้นกว่าสายพันธุ์เดิมแล้ว สายพันธุ์ย่อยทั้งสอง ยังมีความสามารถในการที่จะทำให้เกิดการติดเชื้อได้ ทั้งที่ยังมีระดับภูมิคุ้มกัน ไม่ว่าจะเป็นจากการติดเชื้อเองตามธรรมชาติ หรือจากการฉีดวัคซีนก็ตาม เพียงแต่จะเป็นตอนระดับภูมิคุ้มกันที่ผ่านการติดเชื้อ หรือฉีดวัคซีนไปนานอย่างน้อย 6 เดือนถึง 1 ปี คือ ระดับภูมิคุ้มกันต้องต่ำลงพอสมควร ทาง ECDC จึงได้ออกประกาศเตือนว่า ขอให้ทุกประเทศในยุโรป ได้ระแวดระวังสายพันธุ์ย่อยทั้งสองอย่างเต็มที่ เพราะมีโอกาสที่จะระบาดหนักทั่วทวีปยุโรปในฤดูร้อนปีนี้ (ซึ่งก็คือเดือน ก.ค.-ก.ย.65) จะส่งผลกดดันอย่างมากต่อโรงพยาบาลและไอซียู

 

ทั้งนี้ จากระบบการเฝ้าระวังสายพันธุ์ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่า ในประเทศไทย มีสัดส่วนของ BA.4-BA.5 เพิ่มขึ้น ในช่วงเวลาที่มีการ ผ่อนคลายมาตรการ ด้วยการ ถอดแมสก์ และ ทำกิจกรรมได้เกือบเหมือนปกติ จึงไม่ควรประมาท เพื่อป้องกันการนำไปสู่การระบาด wave ใหญ่เกิดขึ้นอีก

 

 

ติดตามข่าวอื่นๆ เพิ่มเติม : https://www.komchadluek.net/

ที่มา : อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ