โควิด-19

"โอไมครอน" BA.4-BA.5 ระบาดในไทย พบติดเชื้อหลายราย เฝ้าติดตามใกล้ชิด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ไทยพบแล้ว "โอไมครอน" สายพันธุ์ย่อย BA.4-BA.5 พบติดเชื้อหลายราย เฝ้าติดตามใกล้ชิด ขณะ WHO ยังไม่ยกระดับให้ เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล

ทางเพจ Center for Medical Genomics เปิดข้อมูล "โอไมครอน" สายพันธุ์ย่อย "BA.5" ปัจจุบันพบการกลายพันธุ์ต่างไปจากไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์ดั้งเดิมมากที่สุด ก่อให้เกิดความสุ่มเสี่ยงที่จะหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันแพร่ระบาดไปทั่วโลกได้ในอนาคตอันใกล้ ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อ  "BA.4-BA.5" เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลในโปรตุเกสและแอฟริกาใต้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ตามมาด้วยอังกฤษ ออสเตรีย เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมัน ฯลฯ

 

"โอไมครอน" สายพันธุ์ย่อย "BA.5" ซึ่งมีการกลายพันธุ์ต่างไปจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ดั้งเดิมมากที่สุด พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในโปรตุเกสมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ในเยอรมนีมีผู้ติดเชื้อและเข้ารักษาตัวใน รพ. เพิ่มขึ้นมานานกว่าหนึ่งสัปดาห์ โดยมีการติดเชื้อ BA.5 เพิ่มขึ้นสองเท่าเมื่อสิ้นเดือนที่แล้ว 

 

ที่น่ากังวลคือผลการทดลองในสัตว์ทดลองเบื้องต้นบ่งชี้ว่า "โอไมครอน" สายพันธุ์ย่อย "BA.4" - "BA.5" สามารถเพิ่มจำนวนได้ดีในเซลล์ปอด อันอาจจะก่อให้เกิดการติดเชื้อปอดอักเสบขึ้นได้ในมนุษย์ ซึ่งต่างไปจากโอไมครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม "BA.1-BA.2" ซึ่งเพิ่มจำนวนได้ดีในเซลล์ของเยื่อบุระบบทางเดินหายใจส่วนบน ไม่ลงมาแพร่ติดต่อในระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง เช่นที่ปอด

 

จากฐานข้อมูล (รหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม) โควิดโลก "GISAID" ระบุว่าประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อ "โอไมครอน" สายพันธุ์ย่อย BA.4, BA.5, และ BA.2.12.1 ไปแล้วจำนวน 23, 26, และ 18 รายตามลำดับ โดยจำนวนผู้ติดเชื้อที่ต้องเข้ามารักษาตัวใน รพ. ยังไม่เพิ่มจำนวน คงต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดกันต่อไป

 

ทั้งนี้ฐานข้อมูล GISAID มีรายงานสายพันธุ์ที่พบในประเทศไทยช่วง 60 วันที่ผ่านมามีดังนี้ BA.2 จำนวน 44 เปอร์เซ็นต์ BA.2.9 จำนวน 26 เปอร์เซ็นต์ BA.2.10 จำนวน 7 เปอร์เซ็นต์ BA.2.3 จำนวน 5 เปอร์เซ็นต์ BA.2.10.1 จำนวน 4 เปอร์เซ็นต์ BA.2.27 จำนวน 3 เปอร์เซ็นต์ BA.5 BA.4 และ BA.2.12.1 จำนวน 1 เปอร์เซ็นต์ หากเป็นข้อมูลสายพันธุ์ทั่วโลกที่พบโดยเฉลี่ยมีดังนี้  BA.2.12.1 จำนวน 27 เปอร์เซ็นต์  BA.5 จำนวน 17 เปอร์เซ็นต์ BA.4 จำนวน 8 เปอร์เซ็นต์ และ BA.2.3 จำนวน 6 เปอร์เซ็นต์

 

ขณะนี้บางประเทศในยุโรปมีการยกระดับการเตือนภัยแล้ว โดยเฉพาะที่โปรตุเกส หน่วยควบคุมโรคของยุโรปได้ยกระดับให้เป็นสายพันธุ์ที่ต้องระมัดระวัง แต่องค์การอนามัยโลก "WHO" ยังไม่ได้ยกระดับให้ BA.4
และ BA.5 เป็นสายพันธุ์น่ากังวลใจ

 

logoline