โควิด-19

เด็กเล็ก ติด "โควิด" หายแล้วไม่จบ ทำค่าเอนไซม์ตับสูงขึ้น ส่งผลในระยะยาว

เด็กเล็ก ติด "โควิด" หายแล้วไม่จบ ทำค่าเอนไซม์ตับสูงขึ้น ส่งผลในระยะยาว

17 พ.ค. 2565

"หมอธีระ" เปิดผลวิจัย พบเด็กเล็กติด "โควิด" พบปัญหาค่าเอนไซม์ในตับสูงขึ้น ผลกระทบตามมาระยะยาวหลังการติดเชื้อ รอผลการศึกาา เกี่ยวข้องกับการระบาดตับอักเสบหรือไม่

"หมอธีระ" รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน) เปิดเผยว่า ทีมวิจัยจากโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา ศึกษาในเด็กอายุ 1-10 ปี จำนวนถึง 796,369 คน โดยมีเด็ก 245,675 คนที่ติดเชื้อไวรัสโรค "โควิด" ตั้งแต่มีนาคม 2020 ถึงมีนาคม 2022 เปรียบเทียบกับเด็ก 550,694 คนที่ติดเชื้อไวรัสทางเดินหายใจชนิดอื่นๆ ที่ไม่ใช่โรคโควิด-19 ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน

 

ผลการศึกษาพบว่า แม้จะผ่านไปแล้วนานถึง 6 เดือน เด็กที่ติดเชื้อไวรัสโรคโควิด19 นั้นจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาค่า เอนไซม์ตับ สูง มากกว่ากลุ่มเด็กที่ติดเชื้อไวรัสทางเดินหายใจชนิดอื่นๆ ถึง 2.52 เท่า (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 2.03 เท่า - 3.12 เท่า) จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาค่า total bilirubin สูง มากกว่ากลุ่มเด็กที่ติดเชื้อไวรัสทางเดินหายใจชนิดอื่นๆ ถึง 3.35 เท่า (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 2.16 เท่า - 5.18 เท่่า)

 

งานวิจัยนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการติดเชื้อโรค โควิด19 ในเด็ก ว่าจะเกิดผลกระทบตามมาระยะยาวหลังการติดเชื้อ

 

ทั้งนี้ ผลการศึกษาดังกล่าวจะเชื่อมโยงไปถึงความสัมพันธ์ของการติดเชื้อโรค โควิด19 กับปัญหาภาวะตับอักเสบรุนแรงในเด็กเล็กที่พบทั่วโลกขณะนี้หรือไม่ คงต้องติดตามดูกันต่อไป

 

อย่างไรก็ตาม การป้องกันไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุด