โควิด-19

"โอไมครอน" ขาลง "Long COVID" ตามมา พบหลายอาการ เป็นได้ทุกคน แม้ติดเชื้อน้อย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"หมอธีระ" เปิดผลวิจัย แม้ "โอไมครอน" อยู่ในช่วงขาลง แต่ปัญหา "Long COVID" ตามมา เป็นได้ทุกคน แม้ไม่มีอาการหรือติดเชื้อน้อย

อัปเดตการแพร่ระบาด "โอไมครอน" เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 494,628 คน ตายเพิ่ม 1,896 คน รวมแล้วติดไปรวม 516,365,561 คน เสียชีวิตรวม 6,274,197 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เยอรมัน สหรัฐอเมริกา อิตาลี ฝรั่งเศส และออสเตรเลีย เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 14 ใน 20 อันดับแรกของโลก

 

"หมอธีระ" รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน) ถึงสถานการณ์ระบาดของไทยจากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 11 ของโลก และอันดับ 4 ของเอเชีย ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 9 ของโลก ทั้งนี้จำนวนเสียชีวิตของไทยเมื่อวานนั้นคิดเป็น 27.8% ของการเสียชีวิตทั้งหมดที่รายงานของทวีปเอเชีย

 

อัพเดต "Long COVID"

1. "Long COVID" พบได้บ่อย และเป็นได้แทบทุกระบบในร่างกาย
Gennaro FD และทีมได้เผยแพร่ผลการวิจัยทบทวนข้อมูลอย่างเป็นระบบจากงานวิจัยกว่า 196 ชิ้นทั่วโลก รวมกลุ่มตัวอย่างถึง 120,970 คน เพื่อดูอัตราการเกิดภาวะ "Long COVID" ตามคำจำกัดความขององค์การอนามัยโลกพบว่า ทั่วโลกผู้ที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 มาก่อนนั้นจะมีอัตราการเกิดภาวะ "Long COVID" สูงถึง 56.9% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 52.2%-61.6%)

 

ทั้งนี้อาการผิดปกติของ "Long COVID" นั้นเกิดได้ทั่วร่างกายหลากหลายระบบ เพศหญิงมักมีอาการหรืออาการแสดงที่ผิดปกติทั่วไป และอาการทางด้านระบบหัวใจและหลอดเลือด และระบบประสาท ในขณะที่ยิ่งมีอายุมากขึ้น จะมีอัตราการเกิดอาการผิดปกติทั่วไป อาการทางด้านจิตเวช ระบบทางเดินอาหาร ระบบหายใจ และผิวหนังมากขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม "Long COVID" พบได้ทุกเพศ ทุกวัย และเป็นได้ไม่ว่าจะเคยติดเชื้อแบบไม่มีอาการ มีอาการน้อย หรือมีอาการรุนแรง

 

2. สหราชอาณาจักรประเมินผลกระทบจาก "Long COVID" ล่าสุดทาง Office for National Statistics (ONS) ของสหราชอาณาจักรได้ออกรายงานเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา

 

ข้อมูลที่ประเมินจนถึง 3 เมษายน พบว่ามีประชากรอย่างน้อย 1.8 ล้านคนที่กำลังประสบปัญหา "Long COVID" ทั้งนี้มี 31% ที่ติดเชื้อโควิดตั้งแต่ก่อนสายพันธุ์อัลฟ่าระบาด, 14% ที่ติดเชื้อสายพันธุ์อัลฟ่า 25% ที่ติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้า และมีถึง 24% ที่ติดเชื้อสายพันธุ์ Omicron

 

โดยมีผู้ป่วย "Long COVID" มากถึง 791,000 คน (44%) ที่มีอาการต่อเนื่องมาแล้วมากกว่า 1 ปี และอีก 235,000 คน (13%) ที่มีอาการต่อเนื่องมากกว่า 2 ปี

 

มีถึง 1.2 ล้านคน (67%) ที่รายงานว่าปัญหา "Long COVID" ที่เป็นอยู่นั้นส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และ 346,000 คน (19%) ที่แจ้งว่า "Long COVID" ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตอย่างมาก

 

อาการอ่อนเพลีย/เหนื่อยล้าพบได้มากถึง 51% ในคนที่เป็น "Long COVID" รองลงมาคือเหนื่อยหอบ (33%) สูญเสียการดมกลิ่น (26%) และปัญหาเรื่องสมาธิ (23%)

 

ข้อมูลข้างต้นทั้งหมด ชี้ให้เราเห็นแล้วว่า Long COVID is real ประเทศไทยมีคนที่ติดเชื้อไปแล้วจำนวนมาก หากรวมทั้ง RT-PCR และ ATK ทั้งในและนอกระบบรายงาน ก็สูงเกิน 5-6 ล้านคนไปแล้ว ดังนั้นโอกาสที่จะมีประชาชนที่ประสบปัญหา "Long COVID" จำนวนมากหลายแสนจนถึงหลักล้านคนย่อมเป็นไปได้สูงสิ่งที่เราควรทำคือ

 

หนึ่ง ผู้ที่เคยติดเชื้อไปแล้ว ควรป้องกันตนเองไม่ให้ติดเชื้อซ้ำ ใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง และคอยประเมินอาการผิดปกติต่างๆ หากสงสัยควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ

 

สอง คนที่ยังไม่เคยติดเชื้อ ก็ควรต้องระมัดระวังการใช้ชีวิตประจำวัน เลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง กิจกรรมเสี่ยง สถานที่เสี่ยง ใส่หน้ากากเสมอ เรื่องนี้สำคัญมาก

 

โควิด...ติด...ไม่ใช่แค่คุณ

โควิด...ไม่จบแค่หายหรือตาย แต่ที่ทรมานคือเรื่อง "Long COVID" ที่จะบั่นทอนคุณภาพชีวิต สมรรถนะในการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน ความสัมพันธ์กับผู้อื่น และเป็นภาระค่าใช้จ่ายทั้งต่อผู้ป่วย ครอบครัว และประเทศ

 

logoline