ติดโควิดคิดว่าหาย ไม่ใช่เรื่องจริงอีกต่อไป หลังจากเมื่อหายจากอาการป่วย หรือหายจากการติดเชื้อแล้ว สิ่งที่ส่วนใหญ่มักกังวลต่อ คือเรื่องของการเกิด "ภาวะลองโควิด" Long COVID ซึ่งมักจะเกิดขึ้นกับผู้ที่หายจากการติดเชื้อเป็นส่วนใหญ่
โดย "ภาวะลองโควิด" Long COVID คือ อาการทางร่างกายและทางจิตใจ ที่หลงเหลืออยู่ หลังหายจากการติดเชื้อโควิด-19 อาจเป็นผลกระทบทางตรงจากร่องรอยของโรค หรือเป็นผลกระทบทางอ้อมที่มาจากช่วงที่เคยติดเชื้อก็ได้
กลุ่มอาการลองโควิด (Long Covid) "ภาวะลองโควิด" เป็นอาการที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยโควิด หลังจากได้รับเชื้อนาน 4 สัปดาห์ ไปจนถึง 12 สัปดาห์ขึ้นไป
มีอาการแตกต่างกัน โดยส่วนใหญ่มักจะพบในผู้ป่วยที่เชื้อลงปอด และมีโรคเรื้อรังร่วมด้วย พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และบางครั้งก็พบมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล อาการหลัก ๆ ที่พบคือ
- อ่อนเพลีย
- หายใจไม่เต็มอิ่ม ทำกิจกรรมปกติได้ลดลง เหนื่อยง่ายขึ้น
- ภาวะสมองเสื่อม เช่น ขาดสมาธิ ไม่สามารถจดจ่อในสิ่งที่จะทำ ความจำลดลง มีปัญหาการนอนหลับ ความสามารถในการควบคุมความคิด อารมณ์ และพฤติกรรมลดลง
นอกจากนี้ ยังพบอาการอื่นอีก เช่น
- ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เส้นเลือดสมองอุดตัน ลิ่มเลือดอุดตันในอวัยวะต่างๆ
- ปวดหู หรือ มีเสียงในหู
- ปวดท้อง ท้องเสีย กินอาหารได้น้อยลง
- ชา ปวดกล้ามเนื้อและข้อ
- ไม่ได้กลิ่น รับรสได้ไม่ดี
- ผื่นตามตัว ผมร่วง
- รอบประจำเดือนมาไม่ปกติ
- มีไข้ ไอ ปวดหัว เจ็บคอ
- เวียนศีรษะ
- อาจมีภาวะซึมเศร้าหรือวิตกกังวล
และที่น่าสนใจพบว่า "ภาวะลองโควิด" ยังมีผลต่อการสร้างมวลกระดูกที่ลดลงด้วย โดยคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยอินเดียน่า พบว่าหนูทดลองที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เกิดการสูญเสียมวลกระดูกได้มากถึง 25% ภายในสองสัปดาห์หลังจากการติดเชื้อ ทำให้เรารู้ว่าภาวะการติดเชื้อโควิด-19 อาจทำให้ผู้ติดเชื้อสูญเสียมวลกระดูกได้อย่างรวดเร็ว แม้ว่าการติดเชื้อจะมีอาการไม่รุนแรงก็ตาม มวลกระดูกที่ลดลง มักเกิดพร้อมกับโรคกระดูกพรุนทำให้กระดูกเปราะและแตกหักได้ง่าย
กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อภาวะโรคกระดูกพรุน
- กลุ่มผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงจะติดเชื้อ โควิด-19 ได้ง่ายและแนวโน้มจะเกิดการแทรกซ้อนจากโรคกระดูกพรุน
- กลุ่มเด็กที่ติดเชื้อ โควิด-19 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการสร้างมวลกระดูกมีผลต่อการเจริญเติบโตของเด็กในระยะยาว
ผู้ป่วยโควิด-19 เมื่อหายแล้วอาจเจอ "ภาวะลองโควิด" เหล่านี้ตามมาได้ จึงควรหมั่นสังเกตตัวเอง หากมีความผิดปกติ หรือมีข้อสงสัยอย่าปล่อยให้มีอาการรุนแรง รีบพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาทันที
ข่าวที่เกี่ยวข้อง