โควิด-19

รู้จัก "MIS-C" ภาวะแทรกซ้อนในเด็ก ภายหลังหายจากการติดเชื้อ "โควิด19"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ทำความรู้จัก "MIS-C" กลุ่มอาการอักเสบหลายระบบ ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงในเด็ก ภายหลังหายจากการติดเชื้อ "โควิด19" ส่วนใหญ่พบในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง

Multisystem Inflammatory Syndrome in Children "MIS-C" คือ กลุ่มอาการอักเสบหลายระบบ ที่เป็นภาวะแทรกซ้อนรุนแรงหลังเด็กหายจากการติดเชื้อโควิด19 เริ่มมีอาการได้ตั้งแต่ระยะหายจากโรคจนถึงหลังติดเชื้อ 2 - 6 สัปดาห์ สาเหตุเชื่อว่าเกิดจากการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสนี้มากเกินไป

 

"MIS-C" อาจมีอาการคล้ายโรคคาวาซากิ เช่น มีไข้สูง ผื่น ตาแดง ปากแดง ซึ่งอาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นต้องเข้ารับการรักษาในไอซียู และอาจมีภาวะแทรกซ้อนทำให้เสียชีวิตได้ โดย "MIS-C" มีผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดเป็นหลักหรืออาจจะเกิดในหลายๆ ระบบพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นระบบผิวหนังและเยื่อบุทำให้เกิดเป็นผื่นตามมา หรือระบบทางเดินอาหารทำให้เกิดอาการ ปวดท้อง อาเจียน ท้องเสีย

 

ทั้งนี้ อาจมีผลกระทบต่อระบบหายใจได้แต่ค่อนข้างน้อย ซึ่งจะแยกกันกับโรค โควิด19 ที่เป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจโดยตรง เนื่องจากภาวะ "MIS-C" คนไข้ส่วนมากไม่ได้มาจากอาการ ไอ จามหรือ มีน้ำมูก เหมือนโรค โควิด19 แต่อาจจะมีอาการเหนื่อยได้ซึ่งเป็นผลจากหัวใจมากกว่า 

 

ระยะเริ่มต้นของคนไข้ภาวะ "MIS-C" บางคนอาจมาด้วยอาการ มีไข้ อาเจียน ท้องเสียทำให้คิดว่าเป็นโรคติดเชื้อทางเดินอาหารได้ โดยส่วนมากการดำเนินโรคค่อนข้างเร็วไม่เกิน 1 สัปดาห์ จากนั้นจะมีอาการหลายระบบขึ้นมาให้เราเห็น เช่น เริ่มมีผื่น ตาแดง หายใจเหนื่อยหรือในเด็กบางรายอาจมีอาการช็อคได้ 

 

ภาวะ "MIS-C" ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโดยตรง แต่เป็นภาวะที่เกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ตอบสนองต่อการติดเชื้อผิดปกติไป จึงไม่ถือว่าเป็นโรคติดเชื้อ ซึ่งปัจจุบันไม่มีปัจจัยการกระตุ้นที่ชัดเจน นอกเหนือจากการติดเชื้อ โควิด19 หรือมีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ โควิด19 มาก่อน โดยพบได้มากในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง

 

นายแพทย์อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า กลุ่มอาการ "MIS-C" (มิสซี) เริ่มมีการรายงานครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2563 ที่ประเทศอังกฤษ หลังจากนั้นมีรายงานที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนใหญ่พบในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง พบได้ในเด็กทุกกลุ่มอายุ อายุโดยเฉลี่ย 8-10 ปี

 

อุบัติการณ์ประมาณร้อยละ 0.03 ของผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อโควิดทั้งหมด เด็กมักจะมาด้วยอาการไข้สูง ผื่น ปากแดง ตาแดง ต่อมน้ำเหลืองโต อาเจียน ถ่ายเหลว บางรายมีหอบเหนื่อย ปอดอักเสบ และมีภาวะช็อคจากการทำงานของหัวใจที่ผิดปกติ ผู้ป่วยเด็กมากกว่าร้อยละ 50 จำเป็นต้องรักษาในหอผู้ป่วยเด็กวิกฤตเนื่องจากภาวะช็อค ภาวะนี้ มีอันตรายถึงชีวิตได้ อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ประมาณร้อยละ 3 สามารถรักษาด้วยการให้อิมมูโนกลอบูลินและสเตียรอยด์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักตอบสนองต่อการรักษาดี 

 

ในสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีพบผู้ป่วยที่มาด้วยภาวะนี้ โดยพบว่าร้อยละ 7-14 ยังมีการทำงานของหัวใจที่ผิดปกติ นอกจากนี้ทางสถาบันฯ ยังมีโครงการตรวจติดตามผู้ป่วยเด็กติดเชื้อโควิดที่เข้ารับการรักษาที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีเป็นระยะๆ เพื่อเฝ้าระวังภาวะ Long COVID (ลองโควิด) จากการติดตามในทุกระบบของร่างกายยังไม่พบภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงและสถาบันฯ ยังคงติดตามดูแลเด็กอย่างต่อเนื่อง

 

ขอบคุณข้อมูลสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี //

พญ.ตวงพร ตุรงค์สมบูรณ์ กุมารแพทย์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลรามคำแหง

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ