โควิด-19

"หมอธีระ" ย้ำ "โควิด" ไม่ใช่หวัด จะเป็นโรคประจำถิ่น ต้องทำความเข้าใจก่อน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"หมอธีระ" โพสต์เฟสฯ ยังย้ำ "โควิด" ไม่ใช่หวัดธรรมดา ก่อนจะผลักดันให้เป็น โรคประจำถิ่น ต้องทำความเข้าใจก่อน ต้องมียาและวัคซีนที่ใช้รักษาอย่างมีประสิทธิภาพ

"หมอธีระ" รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน) ว่า เมื่อวานทั่วโลกติดเชื้อ "โควิด19" เพิ่ม 353,449 คน ตายเพิ่ม 1,627 คน รวมแล้วติดไปรวม 509,845,095 คน เสียชีวิตรวม 6,244,616 คน สำหรับสถานการณ์ระบาดของไทย เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 7 ของโลก และอันดับ 3 ของเอเชีย ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 4 ของโลก

 

สถิติของไทย หากดูจำนวนการติดเชื้อรายใหม่ต่อวัน รวม ATK เท่าที่ติดตามข้อมูลมา ไทยเราจะติดอันดับ Top 10 ของโลกติดต่อกันยาวนานถึง 39 วันแล้ว ส่วนจำนวนการเสียชีวิตต่อวันนั้น ติดอันดับ Top 10 มาต่อเนื่อง 10 วัน

 

ย้ำเตือนเรื่องความเข้าใจเกี่ยวกับ โรคประจำถิ่น (Endemic diseases) "Endemic doesn't mean harmless"

โรคประจำถิ่น ไม่ควรนำมาใช้ทำแคมเปญให้เข้าใจคลาดเคลื่อนได้ว่าเป็นโรคธรรมดา ไม่น่ากลัว ไม่ต้องสนใจ ไม่ต้องกังวลอีกต่อไป

โรคประจำถิ่น นั้น โดยแท้จริงแล้วหมายถึงโรคที่ถูกระบุว่า พบได้บ่อยหากใครจะเดินทางไปยังพื้นที่นั้น ดินแดนนั้น ประเทศนั้น

โรคประจำถิ่น นั้น จะถูกใช้เมื่อเจอโรคนั้นอย่างเป็นประจำในถิ่นนั้น โดยรู้ว่ามีอัตราการติดเชื้อเพียงใดในลักษณะที่คงที่ โดยอาจมากขึ้นน้อยลงตามฤดูกาลได้ และสามารถคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงของเชื้อโรคได้ดีในระดับหนึ่งเพื่อวางแผนจัดการรับมือ มิให้เกิดการระบาดจนเกินควบคุม

 

ทั้งนี้การจะจัดการโรคประจำถิ่นได้ดีนั้นยัง "จำเป็น" ต้องมียาที่ใช้ในการรักษาและวัคซีนที่ใช้ในการป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ได้พึ่งพา "ยาผีบอก หรือพืชผักสมุนไพร" ที่คิดเอาเองว่าได้ผลโดยไม่ได้รับการพิสูจน์ตามขั้นตอนมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับ ที่สำคัญที่สุดคือ โรคประจำถิ่นนั้นไม่ได้แปลว่า "ไม่อันตราย" ไม่ได้แปลว่า "อ่อน กระจอก ธรรมดา ไม่รุนแรง"

 

หลายโรคที่เป็นโรคประจำถิ่นในบางทวีป บางประเทศ เช่น ไข้เหลือง อีโบล่า ฯลฯ ที่พบมากในแอฟริกา ก็ทำให้เกิดการติดเชื้อ โดยยังมีอัตราการเสียชีวิตสูงได้เช่นกัน ไม่เว้นแม้แต่โรคที่เราคุ้นเคยกันเช่น วัณโรค มาลาเรีย ก็พบว่าเป็นโรคประจำถิ่นในพื้นที่ต่างๆ ในประเทศไทย แต่ก็เป็นโรคที่เป็นแล้วรุนแรง เสียชีวิตได้

 

ดังนั้น หากทำความเข้าใจเรื่อง โรคประจำถิ่น และติดตามความเป็นไปในเครือข่ายสังคมตลอดช่วงที่ผ่านมาจะพบว่าน่าเป็นห่วง เพราะมีแนวโน้มความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่าโควิด-19 จะกลายเป็นหวัดธรรมดา กระจอก ประจำถิ่น โดยไม่ต้องกังวลหรือป้องกันตัว

 

ด้วยสถานการณ์ปัจจุบัน ในภาพรวมเรามีจำนวนการติดเชื้อมาก และมากกว่าประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลก ดังนั้นคนที่จะเดินทางมา ก็ย่อมตระหนักดีว่ากำลังเข้าสู่พื้นที่ประเทศที่มีโอกาสติดเชื้อสูง แปลแบบบ้านๆ คือ "แดนดงโรค หรือถิ่นที่มีโรคนั้นชุกชุม" หรือ "endemic area" คำว่า "โรคประจำถิ่น" จึงไม่มีความหมายสำคัญไปกว่าที่อธิบายมาข้างต้น สิ่งที่ควรให้ความสำคัญคือ ทำอย่างไรให้การระบาดบรรเทาเบาบางลงกว่าที่เป็นมา

 

การป้องกันการแพร่เชื้อติดเชื้อ คือคำตอบสุดท้ายที่จะไขปัญหานี้ได้ มิใช่การพึ่งวัคซีนเป็นหลักเพียงอย่างเดียว เพราะวัคซีนนั้นหวังผลในแง่การลดความเสี่ยงการป่วยรุนแรง และการเสียชีวิตการคิดและผลักดันนโยบายและมาตรการต่างๆ ในทุกมิติของสังคม เพื่อทำให้คนป้องกันตัว ไม่ให้ติดเชื้อหรือแพร่เชื้อ ให้มีประสิทธิภาพมากกว่าที่เป็นมาคือสิ่งที่จำเป็น

 

ใส่หน้ากากนะครับ นี่คือหัวใจสำคัญที่จะปกป้องสวัสดิภาพและความปลอดภัยของคุณและสมาชิกในครอบครัว ปัญหาไม่ใช่แบบคิดตื้นๆ ว่า ติดเชื้อแล้วแป๊บเดียวก็หาย แต่โชคร้ายอาจเสียชีวิต แม้จะได้รับวัคซีนมาแล้วก็ตาม 

 

ยิ่งไปกว่านั้น โชคร้ายที่สุดคือการเกิดภาวะผิดปกติระยะยาวหรือ Long COVID ซึ่งเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะเคยติดเชื้อแบบไม่มีอาการเลย มีอาการน้อย หรือมีอาการมาก ก็ล้วนเกิดได้ทั้งสิ้น และจะบั่นทอนคุณภาพชีวิต เป็นภาระค่าใช้จ่ายต่อผู้ป่วย ครอบครัว และสังคมในระยะยาว

 

ใช้ชีวิต ทำงาน เรียนหนังสือ ทำมาค้าขาย อย่างมีสติ ป้องกันตัวเสมอ จะลดความเสี่ยงไปได้มาก ไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุด
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ