โควิด-19

"วัคซีนโควิด" ประสิทธิภาพลด? "ยาต้านไวรัส" จะช่วยเสริมการรักษาได้หรือไม่

"วัคซีนโควิด" ประสิทธิภาพลด? "ยาต้านไวรัส" จะช่วยเสริมการรักษาได้หรือไม่

25 เม.ย. 2565

ศูนย์จีโนม ระบุ "วัคซีนโควิด" มีประสิทธิภาพลดหลัง โควิด มีการกลายพันธุ์ต่อเนื่อง "ยาต้านไวรัส" จะช่วยเติมเต็มในการรักษาให้ดียิ่งขึ้น

สถานการณ์การระบาด โควิด ยังมีการระบาดอย่างต่อเนื่อง แม้ว่ายอดติดเชื้อล่าสุดในไทยจะมีจำนวนลดลง แต่สิ่งที่ยังคงกังวล คือ ไวรัสมีการกลายพันธุ์
ซึ่งทาง เพจ Center for Medical Genomics ได้โพสต์ถึง ประเด็น "วัคซีนโควิด" ที่มีใช้อยู่ในปัจจุบันได้ลดประสิทธิภาพในการป้องกันลง การพึ่งพาเฉพาะวัคซีนในการป้องกันการติดเชื้อ เพียงอย่างเดียวพอเพียงหรือไม่ เราจะอยู่กันอย่างไรเมื่อมีการปรับโควิด ให้เป็นโรคประจำถิ่น คำตอบคือ "ยาต้านไวรัส" จะเข้ามาเป็นตัวเปลี่ยนเกม ไม่ได้เข้ามาแทนที่ในการป้องกัน แต่เป็นตัวเติมเต็มให้กับวัคซีนในด้านการรักษา

 

สถาบันวัคซีนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2565 ได้แถลงการประเมินประสิทธิผลวัคซีนจากการใช้จริงต่อไวรัสโคโรนา 2019 จากกลุ่มอาสาสมัคร จ.เชียงใหม่ ในช่วงเดือน ม.ค. - มี.ค. 2565 ระบุว่า

1. การฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ไม่อาจป้องกันการติดโอไมครอนได้ แต่สามารถป้องกันการเสียชีวิตได้มากกว่า 85% 

2. หากได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 (เข็มกระตุ้น) ในระยะเวลาที่เหมาะสมสามารถป้องกันการติดเชื้อโอไมครอนได้ 34 - 68 % และเพิ่มการป้องกันการเสียชีวิตได้ถึง 98 - 99% 

3. หากได้รับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็มที่ 4 เมื่อครบกำหนดการเข้ารับวัคซีน พบว่า สามารถป้องกันการติดเชื้อได้สูงถึง 80-82% โดยยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากโควิด 19 ในกลุ่มผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 4

4. ผลการประเมินประสิทธิผลวัคซีนจากการใช้จริงในระดับโลก ทำให้องค์การอนามัยโลกได้ออกประกาศสนับสนุนให้ประชาชนเข้ารับ "วัคซีนโควิด" เข็มกระตุ้น เพื่อลดอัตราการป่วยหนัก เสียชีวิต การเกิดลองโควิด และการเกิดไวรัสกลายพันธุ์จากการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ย่อยโอไมครอนด้วยเช่นกัน

 

ไวรัสหัด (measles) มีการกลายพันธุ์น้อย ปัจจุบันยังมีเพียงสายพันธุ์เดียว วัคซีนจึงป้องกันได้ โดยไวรัสหัดใกล้จะถูกกำจัด (eradication) หมดสิ้นไปจากโลก เช่นเดียวกับไวรัสไข้ทรพิษ

 

ไวรัสเอชไอวี มีการกลายพันธุ์สูงกว่าไวรัสโคโรนา 2019 จนปัจจุบันยังไม่สามารถพัฒนาวัคซีนขึ้นมาใช้ป้องกันได้ แต่ก็สามารถถูกจำกัดให้เป็นโรคประจำถิ่นได้ด้วยยาต้านไวรัส

 

ดังนั้นไวรัสโคโรนา 2019 แม้การกลายพันธุ์จะไม่รวดเร็วเท่ากับไวรัสเอชไอวี แต่ก็มีการกลายพันธุ์มาอย่างต่อเนื่องทำให้ประสิทธิภาพวัคซีนลดลงจึงมีความจำเป็นต้องนำยาต้านไวรัสมาช่วยเติมเต็มในด้านการรักษา โดยเมื่อติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ต้องรีบรับประทานยาต้านไวรัสทันที ถึงจะได้ผลสูงสุด

 

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ได้มีโอกาสปรึกษากับสมาคมสมาพันธ์สถานประกอบการเพื่อสุขภาพและผู้สูงอายุ ได้ข้อมูลว่าในช่วงที่มีสายพันธุ์เดลตาระบาดเมื่อปี 2564 มีผู้เสียชีวิตประมาณร้อยละ 1 - 2 ส่วนในปี 2565 ซึ่งมีสายพันธุ์โอไมครอนระบาดมีผู้เสียชีวิตลดลงเหลือร้อยละ 0.2 หรือลดลง 10 เท่า ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเปราะบางหรือกลุ่ม 608  ซึ่งสามารถเข้ารักษาตัวใน รพ. หรือรักษาตัวที่บ้านด้วยการรับประทานยาต้านไวรัสในทันที เนื่องจากผู้ติดเชื้อโอไมครอนต่างจากเดลตาที่ส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรือมีอาการไม่มาก

 

การใช้ "ยาต้านไวรัส" หากใช้ไม่ครบคอร์ส ปัญหาที่อาจตามมาคือเกิดเชื้อดื้อยาได้ ทางศูนย์จีโนมได้ถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสโคโรนา 2019 มาอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ยังไม่พบการกลายพันธุ์บริเวณยีนที่เกี่ยวข้องกับ "ยาต้านไวรัส" เนื่องจากวัคซีนไม่อาจป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้นปราการด่านที่ 2 จะเป็นการใช้ "ยาต้านไวรัส" ในการรักษาโรคโควิด-19

 

สำหรับประเทศไทย ผู้ที่ไม่มีอาการหรือยังสบายดีแพทย์มักจะแนะนำให้กักตัวเองอยู่ที่บ้าน (Home Isolation) ดูแลรักษาตามอาการยังไม่ให้ยาต้านไวรัสเพราะผู้ติดเชื้อไม่มีอาการส่วนใหญ่หายได้เอง อาจพิจารณาให้ยาฟ้าทะลายโจรตามดุลยพินิจของแพทย์ในกลุ่มผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อยแต่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง

 

ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรงแพทย์อาจพิจารณาให้ "ฟาวิพิราเวียร์ (favipiravir)" โดยจะเริ่มให้ยาโดยเร็วไม่เกิน 5 วันหลังเริ่มมีอาการจะช่วยให้มีอาการดีขึ้นถึง 79% ไม่ควรใช้รักษาช้าหรือกับกลุ่มคนไข้อาการค่อนข้างหนักเพราะพบว่า ประสิทธิภาพของยาจะไม่ดีนัก อย่างไรก็ดีหากตรวจพบเชื้อเมื่อมีอาการมาแล้วเกิน 5 วัน และเป็นการติดเชื้อไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยอาจไม่จำเป็นต้องให้ยาต้านไวรัส เพราะผู้ป่วยจะหายได้เอง แต่สำหรับกลุ่มเปราะบาง (608) แม้ไม่มีอาการรุนแรง แพทย์อาจพิจารณาให้ยาต้านไวรัสและเริ่มให้เร็วที่สุดจะได้ผลดีที่สุด โดยสรุปจากการทำวิจัยในประเทศไทยพบว่ายา "ฟาวิพิราเวียร์ (favipiravir)" ไม่ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงปานกลาง
ถึงรุนแรงมาก แต่ในกลุ่มที่ไม่มีอาการอาจจะช่วยลดระยะเวลาการมีอาการโดยเฉพาะเมื่อได้รับยาเร็ว

 

ส่วนคนไข้ในกลุ่มสีเหลือง (มีอาการไม่รุนแรง แต่เป็นกลุ่มเสี่ยง) และสีแดง (มีอาการปอดอักเสบรุนแรง) จะมียาต้านไวรัส อาทิ ยาเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir), โมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir), แพกซ์โลวิด (Paxlovid : Nirmatrelvir/ritonavir), ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) ฯลฯ โดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษา

 

ในประเทศไทย โอไมครอน สายพันธุ์ย่อย BA.1 สูญพันธุ์แล้ว (ตรวจไม่พบ) ส่วน BA.2 ระบาดมาถึงพีคสูงสุดแล้ว ผู้ติดเชื้อ BA.2 รายใหม่เริ่มลดจำนวนลง แต่ต้องระวังสายพันธุ์ที่อาจเพิ่มจำนวนขึ้นมาแทนที่คือ BA.2.12 ซึ่งหากสายพันธุ์ย่อยนี้มีโอกาสกลายพันธุ์ระหว่างคนสู่คนเป็นวงกว้างอาจกลายเป็น BA.2.12.1 ซึ่งในประเทศอเมริกามีการแพร่ระบาดของสายพันื BA.2.12.1 อย่างรวดเร็ว และเข้ามาแทนที่ BA.2

 

สำหรับ กลุ่ม 608 หรือกลุ่มเสี่ยงเมื่อติดเชื้อโอไมครอนอาจมีอาการหนักได้ จึงต้องรีบให้ยาต้านไวรัสในทันทีเหมือนการรับประทานยาต้านไวรัส "Tamiflu" เมื่อติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ 

 

ปัญหาเดียวสำหรับยาเม็ด(รับประทาน)ต้านไวรัสที่เพิ่งออกจำหน่ายคือจะมีราคาแพง เช่นในกรณีของโมลนูพิราเวียร์ และ แพกซ์โลวิด ราคาต่อคอร์ส ประมาณ 10,000 บาท