"โควิด" ปิดฉาก (อาจไม่) จบบริบูรณ์ เปิดเงื่อนไข "โรคประจำถิ่น" เป็นได้แค่ไหน
"โควิด" ปิดฉาก (อาจไม่) จบบริบูรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดเงื่อนไข "โรคประจำถิ่น" เป็นได้แค่ไหน เมื่อเชื้อไม่หายไปจากโลก
(22 เม.ย.2565) ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้โพสต์ข้อความ เกี่ยวกับสถานการณ์ "โควิด" โดยเฉพาะในประเด็นการปรับโควิดให้เป็น "โรคประจำถิ่น" โดยระบุหัวข้อว่า โควิดปิดฉาก แต่อาจไม่จบบริบูรณ์ ENDEMIC IS NOT THE END โรคโควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น (endemic) ภายในปี 2565 ตามที่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนคาดการณ์ได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง
"ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์" ให้ข้อมูลว่า ไม่ใช่เพียงแค่ประชากรโลกมีภูมิคุ้มกันที่มากพอจากการฉีดวัคซีน หรือการติดเชื้อเท่านั้น เพราะการที่โรคระบาดใหญ่ลุกลามทั่วโลก ที่เรียกว่า pandemic จะลดระดับลงมาเป็นโรคประจำถิ่นได้ เช่น โรคเอดส์ โรคไข้เลือดออก โรคซิฟิลิส และไข้หวัดใหญ่ที่เราคุ้นเคย หมายความว่า โรคนั้นจะต้องเป็นโรคที่เกิดขึ้นประจำภายในขอบเขตพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ โดยมีอัตราป่วยคงที่ และสามารถคาดการณ์ และควบคุมการระบาดได้ แม้ว่าโรคนั้นจะยังทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ก็ตาม แม้ว่าโรค "โควิด" มีแนวโน้มว่าจะลดระดับกลายเป็นโรคประจำถิ่น ก็ไม่ได้หมายความว่าเชื้อนี้จะหายไปจากโลก
ศ.ดร.เบอร์นาเด็ตต์ โบเดน-อัลบาลา (Bernadette Boden-Albala) ผู้อำนวยการและคณบดีผู้ก่อตั้งคณะสาธารณสุขศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เออร์ไวน์ กล่าวว่า การควบคุมการระบาดที่มีอยู่ช่วยผลักดันให้โรคโควิด-19 กลายเป็นโรคประจำถิ่น โดยเฉพาะเมื่อประชาชนได้รับวัคซีนมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดการเจ็บป่วยที่รุนแรง ลดการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ลดอัตราการเสียชีวิตและที่สำคัญที่สุดคือลดการแพร่เชื้อได้มาก
ในการจัดระดับโรคระบาดนั้น ขอบเขตการระบาดจะเป็นตัวชี้วัดความรุนแรงของการระบาด ซึ่งขณะนี้ โรค "โควิด" ยังจัดว่าเป็นโรคระบาดใหญ่ลุกลามทั่วโลก ที่เรียกว่า pandemic เช่นเดียวกับ ไข้หวัดสเปน ในปี 2461 อยู่ ส่วนโรคระบาด หรือ epidemic ซึ่งมีระดับการระบาดที่รุนแรงลดลงมาจะหมายถึงโรคที่มีการระบาดแพร่กระจายผ่านประชากรตั้งแต่หนึ่งกลุ่มขึ้นไป ความชุกของการติดเชื้อแพร่กระจายเป็นวงกว้างหรือเกินคาดการณ์ได้ แต่ไม่ลุกลามไปทั่วโลก เช่นโรคอีโบลา ที่ระบาดในทวีปแอฟริกาข้ามไปยังทวีปอื่น ๆ ระหว่างปี 2557-2559 ส่วนโรคประจำถิ่นนั้น หมายถึงโรคระบาดที่ยังสามารถรับมือได้ ซึ่งได้แก่
โรคเอดส์ เป็นโรคติดเชื้อไวรัสเอชไอวี ทำให้ภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นโรคอุบัติใหม่ในปี 2527 พัฒนาเป็นโรคติดต่อที่เฝ้าระวัง จนกลายเป็นโรคประจำถิ่นในที่สุด
โรคไข้เลือดออก เป็นโรคประจำถิ่นในเชิงระบาดวิทยา พบครั้งแรกในปี 2500 และเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังตามกฎหมายด้วย แม้ว่าเป็นโรคที่รักษาให้หายได้ แต่หากเข้ารับการประเมินการรักษาไม่ทันท่วงที ผู้ป่วยก็มีอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้
โรคไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคทางเดินหายใจที่เกิดตามฤดูกาลจากไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่แพร่กระจายไปทั่วประชากรในแต่ละปี แม้ว่าไข้หวัดใหญ่จะเป็นโรคประจำถิ่น แต่ไวรัสก็กลายพันธุ์บ่อยครั้ง และมีส่วนทำให้เกิดสายพันธุ์ใหม่ตามฤดูกาลทุกปี คนส่วนใหญ่ที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่สามารถฟื้นตัวได้เองที่บ้านโดยมีอาการไม่รุนแรง อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางรายที่เป็นโรคประจำตัว ผู้สูงอายุ หรือเด็กเล็ก อาจมีความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยรุนแรงขึ้นได้
โรคไวรัสตับอักเสบบี เป็นโรคประจำถิ่นที่พบทั่วโลก โชคดีที่มีวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบี แนะนำให้ฉีดวัคซีน หากใครวางแผนที่จะเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีโรคตับอักเสบระบาดเฉพาะถิ่น
โรคซิฟิลิส เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เคยเป็นโรคประจำถิ่นทั่วโลก ต่อมาการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อลดลง ปัจจุบันยังถือว่าเป็นโรคประจำถิ่นเฉพาะบางส่วนของทวีปแอฟริกา และในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีอัตราการเกิดโรคซิฟิลิสเพิ่มขึ้นอีกครั้ง
หลายประเทศประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น แม้ว่าองค์การอนามัยโลกจะยังไม่ฟันธงว่าจะสามารถปรับระดับได้ภายในปี 2565 หรือไม่ท่ามกลางสถานการณ์ระบาดของสายพันธุ์
โอไมครอนที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุด ในขณะที่ประเทศไทยตั้งเป้าประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2565 โดยพิจารณาจากการที่เชื้อลดความรุนแรงลง ซึ่งคำนวณจากอัตราการเสียชีวิตที่ลดลงตามเกณฑ์ที่กำหนด ร่วมกับการจัดการระบบสาธารณสุขที่สามารถควบคุมและชะลอการระบาดได้
อย่างไรก็ตาม การจะควบคุมความรุนแรงของโรคโควิด-19 ในระดับประชากรได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชนทุกคน ที่ยังต้องเว้นระยะห่างและรักษามาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด รวมถึงเข้ารับการฉีดวัคซีนเพื่อลดความรุนแรงของการติดเชื้อ เพื่อจำกัดการระบาดในวงกว้าง
ขอบคุณข้อมูล ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์