โควิด-19

"อาการลองโควิด" เกิดจากอะไร ทำไมถึงเป็น วัคซีนป้องกันได้มั้ย มีคำตอบแล้ว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"อาการลองโควิด" เป็นอาการที่ผู้ติดเชื้อโควิดส่วนใหญ่มักจะเป็นต่อหลังสิ้นสุดการติดเชื้อ ซึ่งเกิดจากอะไร อาการมีอะไรบ้าง วัคซีนสามารถช่วยได้หรือไม่ มีคำตอบมาให้แล้ว

ผู้ติดเชื้อโควิด-19 เมื่อหายจากอาการป่วยหรือหายจากการติดเชื้อแล้ว สิ่งที่ส่วนใหญ่มักกังวลต่อคือเรื่องของการเกิด "อาการลองโควิด" Long COVID ซึ่งมักจะเกิดขึ้นกับผู้ที่หายจากการติดเชื้อเป็นส่วนใหญ่ โดย Long COVID คือ อาการทางร่างกายและทางจิตใจ ที่หลงเหลืออยู่ หลังหายจากการติดเชื้อโควิด-19 อาจเป็นผลกระทบทางตรงจากร่องรอยของโรค หรือเป็นผลกระทบทางอ้อมที่มาจากช่วงที่เคยติดเชื้อก็ได้

 

องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้ข้อมูลว่า "อาการลองโควิด" มีความเป็นไปได้ที่หลากหลายมาก มีทั้งอาการที่คล้ายกับตอนเป็นโควิด-19 และอาการที่ดูไม่เกี่ยวข้องกันเลย

 

ซึ่งลักษณะอาการสามารถพบได้ 200 อาการ โดยพบได้ในทุกระบบของร่างกาย แบ่งอาการที่พบบ่อยได้ 3 กลุ่ม

1. อ่อนเพลีย
2. หายใจไม่เต็มอิ่ม ทำกิจกรรมปกติได้ลดลง เหนื่อยง่ายขึ้น
3. ภาวะสมองเสื่อม เช่น ขาดสมาธิ ไม่สามารถจดจ่อในสิ่งที่จะทำ ความจำลดลง มีปัญหาการนอนหลับ ความสามารถในการควบคุมความคิด อารมณ์ และพฤติกรรมลดลง

 

อาจพบอาการอื่น ๆ อีก เช่น 

- ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เส้นเลือดสมองอุดตัน ลิ่มเลือดอุดตันในอวัยวะต่างๆ
- ปวดหู หรือ มีเสียงในหู
- ปวดท้อง ท้องเสีย กินอาหารได้น้อยลง
- ชา ปวดกล้ามเนื้อและข้อ
- ไม่ได้กลิ่น รับรสได้ไม่ดี
- ผื่นตามตัว ผมร่วง
- รอบประจำเดือนมาไม่ปกติ
- มีไข้ ไอ ปวดหัว เจ็บคอ
- เวียนศีรษะ
- อาจมีภาวะซึมเศร้าหรือวิตกกังวล

 

โดยหลังหายจากโควิด-19 เราควรตรวจร่างกายเป็นประจำตามคำแนะนำของแพทย์ และควรหมั่นสังเกตประเมินร่างกายตัวเองอยู่เสมอ โดยเฉพาะกลุ่มอาการผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับทางเดินหายใจ อาการเหนื่อยง่าย และภาวะสมองล้า หากมีอาการผิดปกติที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อรับการรักษาและฟื้นฟูอย่างตรงจุด ให้กลับมาเป็นปกติอีกครั้ง

"อาการลองโควิด" เกิดจากอะไร ทำไมถึงเป็น วัคซีนป้องกันได้มั้ย มีคำตอบแล้ว

 

"อาการลองโควิด" มีโอกาสเกิดขึ้นได้ประมาณ 30-50% ของจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่รักษาหายแล้ว อาจเกิดหลังจากที่ได้รับเชื้อมาแล้ว 4-12 สัปดาห์ขึ้นไป มีรายงานว่าพบผู้ป่วย Long COVID ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย (โดยเฉพาะในวัยทำงาน)

 

สาเหตุเกิด "อาการลองโควิด"

 

  1. มีเชื้อไวรัสหลงเหลือในอวัยวะต่างๆ ทำให้เกิดอักเสบต่อเนื่อง
  2. การอักเสบในหลายอวัยวะ ทำให้อวัยวะผิดปกติแบบถาวร ส่วต่อสุขภาพระยะยาว
  3. ผลกระทบจากการรักษา และนอนโรงพยาบาลในระยะเวลานาน
  4. ระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ ภายหลังการติดเชื้อ

 

กลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดภาวะดังกล่าว ได้แก่ ผู้ป่วยที่เคยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแล้ว (ผู้ป่วยสีเหลืองไปจนถึงสีแดง) โดยเฉพาะในกรณีที่เชื้อลงปอด แล้วเกิดภาวะปอดอักเสบรุนแรง เนื่องจากจะเกิดรอยโรคที่มีในปอดได้มากกว่า และใช้ระยะเวลาฟื้นตัวนานกว่า

 

นอกจากนี้ อีกกลุ่มที่ควรเฝ้าระวัง เพราะมีโอกาสได้รับผลกระทบของโรคที่รุนแรงและฟื้นตัวได้ยากกว่า คือ กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ที่มีภาวะอ้วน ผู้ป่วยโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคเบาหวาน รวมถึงกลุ่มผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันต่ำ 

 

อย่างไรก็ดี มีรายงานผู้ป่วยที่ไม่เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยง แต่ก็ยังมีอาการ Long COVID ได้ ดังนั้น แม้จะไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยง แต่การไม่ประมาทไว้ก่อน จะช่วยลดโอกาสติดเชื้อและลดโอกาสที่จะเป็น Long COVID ที่ดีที่สุด

 

ในเด็กหลังติดโควิด อาจพบภาวะแทรกซ้อนรุนแรง ที่เรียกว่า MIS-C
Multisystem inflammatory syndrome in children (MIS-C)
ซึ่งเป็นภาวะหลังจากที่เด็กติดโควิดแล้วมีเกิดอาการอักเสบของอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกายเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันที่สูงผิดปกติ อาจมีอาการคล้ายโรคคาวะซากิ เช่น มีไข้สูง ผื่น ตาแดง ปากแดง ซึ่งอาจมีอาการรุนแรงต้องเข้ารับการรักษาในไอซียู หรือมีภาวะแทรกซ้อนทำให้เสียชีวิตได้

 

วัคซีนโควิดช่วยป้องกัน Long COVID (ลองโควิด) ได้หรือไม่ ?

มีรายงานที่น่าสนใจพบว่า ผู้ป่วยบางส่วนที่มีปัญหา Long COVID เป็นเวลานาน มีอาการที่ดีขึ้นหลังได้รับการฉีดวัคซีน แม้จะยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่มีการคาดการณ์สาเหตุว่า อาจมาจากการตอบสนองต่อการกระตุ้นของวัคซีน ทำให้ภูมิคุ้มกันมีความเปลี่ยนแปลงหรือถูก reset ให้กลับมาทำงานได้ตามปกติ

 

นอกจากนี้ การได้รับวัคซีนก่อนได้รับเชื้อ จะช่วยลดโอกาสที่จะมีอาการรุนแรงด้วย ส่งผลให้โอกาสเกิด Long COVID มีน้อยลง หรือหากว่ามี ก็ลดโอกาสที่จะรุนแรงได้

 

ขอบคุณข้อมูล : โรงพยาบาลพระราม 9 // สสส.

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ