โควิด-19

เปิดประสิทธิภาพยา "แพกซ์โลวิด" พร้อมผลข้างเคียงจากการใช้ยารักษา "โควิด"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดประสิทธิภาพยา "แพกซ์โลวิด" 50,000 คอร์ส รับมือยอดป่วย "โควิด" พุ่งหลังสงกรานต์ พร้อมผลข้างเคียงจากการใช้ยา

ปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้ยาต้านไวรัสรักษาผู้ป่วยโควิด 4 ชนิด ได้แก่ ฟาวิพิราเวียร์, เรมเดซิเวียร์, โมลนูพิราเวียร์ และ "แพกซ์โลวิด" ("Paxlovid") ซึ่งไทยได้รับมอบจากบริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 11 เมษายนที่ผ่านมา จำนวน 50,000 คอร์ส หรือ 1.5 ล้านเม็ด  เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือการระบาดของ "โควิด" หลังจากเทศกาลสงกรานต์ที่คาดว่าจะมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 

เปิดประสิทธิภาพเฉพาะตัว "Paxlovid"

ยา "แพกซ์โลวิด" เป็นยาต้านไวรัสชนิดเม็ด ออกฤทธิ์โดยยับยั้งเอนไซม์โปรตีเอส (Protease) ทำให้เชื้อไวรัสโควิดไม่สามารถสร้างโปรตีนที่จำเป็นต้องใช้ในการเพิ่มจำนวนเชื้อได้ 

 

ยา "แพกซ์โลวิด" ประกอบด้วยยา 2 ชนิด   คือ ยาเนอร์มาเทรลเวียร์  และยาริโทนาเวียร์

 

วิธีใช้ยา "Paxlovid"


รับประทานวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 5 วัน 


ยาเนอร์มาเทรลเวียร์ (150 มิลลิกรัม) จำนวน 2 เม็ด และยาริโทนาเวียร์ (100 มิลลิกรัม) จำนวน 1 เม็ด 


รวมใช้ยาเนอร์มาเทรลเวียร์ 20 เม็ดและยาริโทนาเวียร์ 10 เม็ดต่อคน  

 

ผลจากการใช้ยา "Paxlovid"

จากข้อมูลจากการศึกษาวิจัยในผู้ป่วย 1,379 คน พบว่า ยา "แพกซ์โลวิด" ช่วยลดความเสี่ยงการนอนโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตลงได้ ร้อยละ 88 เมื่อผู้ป่วยได้รับยาภายใน 5 วันนับตั้งแต่เริ่มมีอาการ  

โดยกลุ่มที่ให้ยาแพ็กซ์โลวิด มีการนอนโรงพยาบาล ร้อยละ 0.77 และไม่มีผู้เสียชีวิต ถือว่ามีประสิทธิผลสูง 

 

กลุ่มเป้าหมายใช้ยา "Paxlovid"

ผู้ติดเชื้อโควิดที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง มีความเสี่ยงเกิดอาการรุนแรง เช่น คนอายุมากกว่า 60 ปี, มีภาวะอ้วน, เป็นเบาหวาน, เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด, เป็นโรคไตเรื้อรัง และภูมิต้านทานร่างกายต่ำ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตหรือการรักษาตัวในโรงพยาบาล 

ส่วนกลุ่มที่ต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง คือ สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร ผู้ที่ใช้ยาคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวม ผู้ที่การทำงานของตับหรือไตบกพร่อง รวมถึงผู้ที่ใช้ยาบางชนิดที่อาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างกัน ดังนั้นการพิจารณาให้ยาจึงขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นหลัก

 

การเลือกใช้ยาระหว่าง "โมลนูพิราเวียร์" และยา "แพกซ์โลวิด"

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ระบุถึงคู่มือไกด์ไลน์การเลือกใช้ยาระหว่าง โมลนูพิราเวียร์ และยา "แพกซ์โลวิด" ว่า ยาโมลนูพิราเวียร์ออกฤทธิ์คล้ายยาฟาวิพิราเวียร์ เลือกใช้ตัวใดตัวหนึ่ง ส่วน "แพกซ์โลวิด" ออกฤทธิ์แตกต่างกัน ตามหลักการสามารถใช้ร่วมกันได้ แต่การศึกษาวิจัยไม่ได้ใช้ร่วม ดังนั้น คู่มือไกด์ไลน์จึงระบุให้ใช้ตัวใดตัวหนึ่ง โดยต้องใช้กับผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีโรคร่วม และเริ่มมีอาการ ถึงอาการปานกลาง 

 

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา "Paxlovid"

นพ.สมศักดิ์ ได้อธิบายถึงข้อสงสัยเกี่ยวกับผลข้างเคียงจากการใช้ยาต้านไวรัส "โมลนูพิราเวียร์" และ "แพกซ์โลวิด" ว่า ยาทั้งสองชนิดนี้ตามรายงานยังไม่พบอาการข้างเคียงรุนแรง อย่างกรณีพบตาเปลี่ยนสีใน "ฟาวิพิราเวียร์"  นั้นในยาแพกซ์โลวิดและโมลนูพิราเวียร์ก็ไม่เจอ เพราะไม่มีสารเรืองแสง แต่อาจเกิดอาการเล็กน้อย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ