โควิด-19

"หมอธีระ" เตือนสติใช้ชีวิตสุ่มเสี่ยง ส่อทำให้โควิดปะทุระบาดใหญ่อีก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"หมอธีระ" เตือนสติใช้ชีวิตเสี่ยงเป็นภัยคุมคามต่อสังคม ส่อวุ่นทำให้โควิดกลับมาปะทุระบาดรุนแรงได้อีกครั้ง ย้ำเข็มกระตุ้นจำเป็นมากลดป่วยหนัก-ตาย

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ "หมอธีระ" โพสต์เฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat" เกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดของฌโควิด19 ในช่วงนี้ พร้อมทั้งแนะขอให้ทุกคนใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง ทำให้คนรอบตัวกลายเป็นกลุ่มเสี่ยง  โดยระบุว่า 
15 เมษายน 2565  ทะลุ 502 ล้านคนไปแล้ว เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 916,780 คน ตายเพิ่ม 3,308 คน รวมแล้วติดไปรวม 502,812,309 คน เสียชีวิตรวม 6,217,375 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เยอรมัน เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส อิตาลี และญี่ปุ่น   เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 15 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 83.19 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 75.39  การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็นร้อยละ 30.35 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 22.55 

"หมอธีระ" ระบุเพิ่มเติมว่า สถานการณ์ระบาดของไทย
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 7 ของโลก และอันดับ 3 ของเอเชีย ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 11 ของโลก
ทั้งนี้จำนวนคนเสียชีวิตของไทยเมื่อวานนั้นคิดเป็น 15.41% ของการเสียชีวิตทั้งหมดที่รายงานของทวีปเอเชีย


...การใช้ชีวิตและทำมาหากินที่ไม่ปลอดภัย จะเป็นภัยคุกคามต่อสวัสดิภาพทุกคนในสังคม การใช้ชีวิต และทำมาหากิน โดยมีพฤติกรรมส่วนบุคคลที่ไม่ป้องกันตัว ทำกิจกรรมเสี่ยง ไปในสถานที่เสี่ยง ทั้งๆ ที่สังคมยังเผชิญกับการระบาดรุนแรงดังที่เป็นในปัจจุบัน ไม่ได้ส่งผลต่อตนเองเท่านั้น แต่จะเป็นภัยคุกคามต่อสวัสดิภาพของทุกคนในสังคม ทั้งสมาชิกในบ้าน คนบ้านใกล้เรือนเคียง คนในที่ทำงาน รวมถึงคนอื่นในสังคมที่ต้องพบปะกับคนที่มีพฤติกรรมเสี่ยงนั้น เหตุการณ์ในจังหวัดต่างๆ ทั้งเชียงใหม่ ภูเก็ต และกรุงเทพมหานคร อาทิ ถนนข้าวสาร รวมถึงสถานบันเทิงย่านรามอินทรา ที่เป็นข่าวใหญ่ในสื่อมวลชนช่วงเทศกาลสงกรานต์นั้น ชี้ให้เห็นความเสี่ยงต่อการระบาดปะทุหนักขึ้นได้ เพราะมีเรื่องไม่ใส่หน้ากาก แออัด คลุกคลีใกล้ชิด อยู่กันในที่ระบายอากาศไม่ดี ระยะเวลาที่อยู่กันนาน แชร์ของร่วมกัน รวมถึงการเล่นน้ำสาดน้ำหรือใช้ปืนฉีดน้ำเล่นกัน

"หมอธีระ" ยังระบุเพิ่มเติมอีกว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องตระหนักถึง "บทบาทหน้าที่" ของตนเองในการปกป้องสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตของประชาชน และยามที่เกิดการระบาดปะทุรุนแรงขึ้น จนนำมาสู่ความสูญเสียชีวิต และส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังสังคมและเศรษฐกิจ คงจะไม่เป็นธรรมหากจะบอกให้ทุกคนทุกภาคส่วนในสังคมต้องมารับผิดชอบร่วมกัน เพราะความสูญเสียนั้นเกิดจากน้ำมือกลุ่มคนและกลุ่มธุรกิจส่วนน้อยที่ฝ่าฝืน ไม่รับผิดชอบ และหน่วยงานรัฐที่มีกฎหมายในมือแต่ไม่สามารถจัดการปราบปรามหรือป้องกันได้  สำนึก และความรับผิดชอบ เป็นสิ่งที่ทุกคนทุกภาคส่วนจำเป็นต้องมี เพื่อประคับประคองให้เราอยู่รอดปลอดภัยจากโรคระบาด ใช้ชีวิตได้ ทำมาหากินได้ แต่ควรเป็นไปในแนวทางที่ปลอดภัย ไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อสังคม


...อัพเดตข้อมูลเรื่องวัคซีนจาก US FDA
วิเคราะห์ผลของวัคซีน (mRNA vaccines เป็นหลัก)
เป็นที่ชัดเจนว่า การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น (เข็มที่ 3) นั้นมีความจำเป็น เพื่อที่จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันการป่วยรุนแรงจนต้องนอนโรงพยาบาล และการเสียชีวิต ในขณะที่การฉีดวัคซีนเพียง 2 เข็มนั้น จะได้ผลในการป้องกันช่วงแรก แต่ประสิทธิภาพจะลดลงเมื่อเวลาผ่านไป


ทั้งนี้ในกลุ่มคนที่มีแข็งแรงดีนั้น ผลในการป้องกันยาวนานกว่า 4-6 เดือนหลังฉีดเข็มกระตุ้น
ส่วนผลของวัคซีนในการป้องกันการติดเชื้อนั้น ดูจะหวังได้น้อย ข้อมูลข้างต้นเน้นย้ำให้เราเห็นถึง 2 เรื่องสำคัญคือ
หนึ่ง การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นนั้นมีความจำเป็น เพื่อหวังผลในการลดโอกาสป่วยรุนแรงและเสียชีวิต 
และสอง แม้ฉีดวัคซีนแล้ว ก็อาจติดเชื้อได้ และยังมีโอกาสป่วยได้ ตายได้ ดังนั้นการป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ เป็นสิ่งที่ต้องทำเป็นกิจวัตร
...การใส่หน้ากากเสมอ เป็นหัวใจสำคัญ และเป็นปราการด่านสุดท้ายที่จะป้องกันตัวคุณและคนที่คุณรัก...

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ