โควิด-19

"ยอดผู้ติดเชื้อโควิด" ทั่วโลกจ่อ 500 ล้านคน รวม ATK ไทยอันดับ 5 ของโลก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ยอดผู้ติดเชื้อโควิด" ทั่วโลกเตรียมทะลุ 500 ล้านคน พรุ่งนี้ ขณะที่ไทยนับรวม ATK อยู่อันดับ 5 ของโลก ผู้เสียชีวิตอันดับ 2 ของเอเชีย ผลวิจัยญี่ปุ่นชี้ คนอายุ 60 ปี มีโอกาสเกิด Long COVID มากกว่าคนอายุน้อยกว่า

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ค Thira Woratanarat ว่า เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 515,032 คน ตายเพิ่ม 1,917 คน รวมแล้วติดไปรวม 499,630,064 คน เสียชีวิตรวม 6,205,365 คน 5 อันดับแรกที่มี "ยอดผู้ติดเชื้อโควิด" สูงสุดคือ เยอรมัน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และอิตาลี (แต่หากรวม ATK ไทยเราจะเป็นอันดับ 5 ของโลก ติดต่อกันเป็นวันที่สอง)

จำนวนติดผู้เชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 83.02 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 84.66 การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็นร้อยละ 39.08 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 32.65

 

สถานการณ์ระบาดของไทย

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 5 ของโลก และอันดับ 3 ของเอเชีย ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 6 ของโลก และอันดับ 2 ของเอเชีย เป็นรองเพียงเกาหลีใต้

 

วิเคราะห์ผลลัพธ์จากการบริหารนโยบายสาธารณสุขและป้องกันควบคุมโรค ผลลัพธ์สำคัญที่เห็นคือ

หนึ่ง จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK ติด Top 5 ของโลก ท่ามกลางสถานการณ์ที่ประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลกนั้นเป็นขาลง แต่การระบาดของเรายังรุนแรงต่อเนื่อง

สอง จำนวนเสียชีวิตต่อวัน ติดอันดับ Top 5-10 ของโลกติดต่อกัน นอกจากนี้ล่าสุดเมื่อวานนี้จำนวนการเสียชีวิตต่อวันของเราเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย และคิดเป็น 5.47% ของการเสียชีวิตทั้งหมดทั่วโลก และ 16.77% ของเอเชีย

สาม ข้อมูลจาก Ourworldindata จากทั้ง 2 ภาพ จะเห็นได้ว่า ถ้าเปรียบเทียบช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนหน้าการระบาด ไทยเรามีการเสียชีวิตที่สูงกว่าเดิมมาก (Excess mortality rate) นับตั้งแต่การจัดการระบาดระลอกสอง สาม และสี่เป็นต้นมา แสดงถึงผลลัพธ์ที่ชัดเจนจากการบริหารนโยบายและมาตรการด้านสาธารณสุขที่ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการควบคุมป้องกันโรค และการจัดระบบบริการดูแลรักษา

 

ผลลัพธ์ข้างต้น น่าจะเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่พิสูจน์ให้เห็นว่าอะไรเป็นอะไร

 

โควิด-19 เอาอยู่ เพียงพอ กระจอก หรือธรรมดา จริงหรือไม่?
Mindset ที่ถูกต้องเหมาะสม จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดี

โดยหลักการแล้ว สงครามโรคที่รุนแรงนั้น ประเทศต่างๆ ทั่วโลกจำเป็นต้องมีจุดยืนบน mindset ที่ไม่ปรามาสด้อยค่าสมรรถนะของเชื้อโรค เน้นเรื่องลดความเสี่ยง มุ่งหาทางทำให้เกิดสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตแก่คนในสังคม หากทำเช่นนั้นได้ ก็จะสะท้อนออกมาเป็นนโยบายและมาตรการที่ลดความเสี่ยง ไม่ใช่เพิ่มความเสี่ยง และการวางแผนจัดการเรื่องยา และวัคซีน ทั้งในเรื่องความสอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติของประเทศพัฒนาแล้ว ปริมาณ ระยะเวลาที่จัดหามาได้กฎเกณฑ์ที่ถูกกำหนดและส่งผลต่อการเข้าถึงสำหรับทุกคน ไม่ใช่จัดแล้วทำให้เกิดปัญหาความไม่เป็นธรรม (Health inequity) เกิดปัญหารหัสลับเพื่อลัดคิวหรือเข้าถึงโดยเส้นสายดังที่เห็นบทเรียนมากมายตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

 

อัพเดตงานวิจัย Long COVID

Sugiyama A และคณะจากประเทศญี่ปุ่น รายงานผลการศึกษาเชิงสำรวจเกี่ยวกับ Long COVID ในผู้ที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 จำนวน 127 คน จาก 2 โรงพยาบาลในเมืองฮิโรชิม่า ช่วงสิงหาคม 2563-มีนาคม 2564 พบว่า ณ ช่วงเวลาที่ทำการสำรวจนั้น มีผู้ป่วยที่มีอาการผิดปกติต่อเนื่องภายหลังจากติดเชื้อในช่วงแรกถึง 52% โดยคนที่เคยติดเชื้อแบบมีอาการน้อยก็รายงานว่ามีอาการคงค้างสูงถึง 49.5% ทั้งนี้อาการที่พบบ่อยมักเป็นปัญหาเรื่องการดมกลิ่น การรับรส ไอ เป็นต้น

 

เทียบกันแล้วพบว่า คนที่อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการคงค้างมากกว่าคนที่อายุน้อยกว่า 40 ปีลงมา ถึง 3.63 เท่า จากผู้ป่วยที่มี Long COVID ทั้งหมด พบว่ามีถึง 29.1% ที่ส่งผลกระทบต่อสมรรถนะการทำงาน

 

นอกจากนี้ปัญหาสำคัญอีกเรื่องคือ การถูกตีตราทางสังคมหรือกีดกัน (Stigma and discrimination) ที่พบได้มากถึง 43.3%

 

ผลการศึกษานี้ชี้ให้เห็นความสำคัญในการที่แต่ละประเทศควรเตรียมระบบบริการดูแลรักษา ฟื้นฟูสภาพ ให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วย Long COVID ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณมากในอนาคตหลังจากผ่านพ้นระยะการระบาดหนักไปไม่ใช่แค่ปัญหาด้านการแพทย์ แต่สิ่งสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือปัญหาในการดำเนินชีวิตประจำวัน และผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจ ทั้งต่อตัวผู้ป่วย ครอบครัว และประเทศ

 

สุดท้าย  bottomline

การป้องกันตัวเองและครอบครัวไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุด หัวใจสำคัญคือ การใส่หน้ากากครับ เพราะคือปราการด่านสุดท้ายของทุกคน

 

อ้างอิง
Sugiyama A et al. Long COVID occurrence in COVID-19 survivors. Scientific Reports. 11 April 2022.

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ