"เหงื่อออกตอนกลางคืน" ทั้งที่นอนห้องปรับอากาศ หากเป็นเมื่อก่อน อาจไม่มีอะไรน่ากังวล หรือไม่มีอะไรต้องคิดมาก แต่ปัจจุบัน หลังจากที่ 1 ในอาการโควิด "โอไมครอน" นอกจาก ไอ ปวดเมื่อยเนื้อตัว เป็นไข้ แล้วยังมีอาการ "เหงื่อออกตอนกลางคืน" ขณะนอนหลับ แม้จะอยู่ในห้องแอร์ก็ตาม แต่อย่างไรก็ตาม อย่าเพิ่งตกใจไปเพราะ "เหงื่อออกตอนกลางคืน" อาจไม่ใช่อาการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนเสมอไป แต่อาจเป็นสัญญาณเตือนความผิดปกติอื่น ๆ ของร่างกาย ลองมาดูข้อแตกต่าง
เหงื่อออกตอนกลางคืน คืออะไร
"เหงื่อออกตอนกลางคืน" เป็นภาวะที่ร่างกายขับเหงื่อออกมากผิดปกติ แม้อยู่ในสภาพอากาศหนาวเย็นที่ไม่ได้เอื้อต่ออาการเหงื่อออกก็ตาม นอกจาก
อาการดังกล่าวก่อให้เกิดความรู้สึกไม่สบายตัว ยังอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความผิดปกติของร่างกาย หรือเป็นหนึ่งในอาการของโรคร้ายแรงได้ด้วย
เหงื่อออกตอนกลางคืน เป็นสัญญาณเตือนโรคใดบ้าง
โควิดสายพันธุ์โอไมครอน น่าจะมาแรงที่สุดในตอนนี้ หลังจากเกิดการระบาดของไวรัสโควิดกลายพันธุ์ชนิดใหม่ อย่างโควิดสายพันธุ์ B.1.1.529 หรือ โอไมครอน (Omicron) สายพันธุ์ที่น่ากังวลใจไม่น้อย เนื่องจากแพร่กระจายได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดลตา แถมอาการป่วยยังไม่ชัดเท่าสายพันธุ์อื่น จนบางครั้งเกิดความสับสน ระหว่างติดเชื้อโควิดหรือป่วยไข้หวัด แต่โควิดสายพันธุ์ "โอไมครอน" ก็มีอาการที่สามารถสังเกตได้ นั่นคืออาการ "เหงื่อออกตอนกลางคืน" แต่ก็ควรพิจารณาอาการป่วยอื่น ๆ ควบคู่กันไปด้วย
โรคอ้วน ผู้ที่เป็นโรคอ้วน หรือมีภาวะอ้วนมาก ๆ ชั้นไขมันใต้ผิวหนังหนาตัวขึ้นเป็นผลให้ร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้อย่างที่ควรจะเป็น ทำให้ต้องระบายความร้อนภายในร่างกายออกมาในรูปแบบของเหงื่อมากกว่าคนที่มีน้ำหนักตัวปกติ สังเกตได้ว่าผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์มาตรฐานมักมีอาการเหงื่อออกเยอะมากผิดปกติ ซึ่งวิธีรักษาก็ไม่ยุ่งยากเพียงลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมก็บรรเทาภาวะร่างกายขับเหงื่อออกมากผิดปกติได้
การติดเชื้อในร่างกาย หากมีอาการป่วยจากการติดเชื้อ หรือมีไวรัสอยู่ในร่างกาย จนทำให้ป่วยด้วยโรคไข้หวัด แผลติดเชื้อ หรือป่วยโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง
โดยอาการป่วยเหล่านี้มักทำให้อุณหภูมิร่างกายเปลี่ยนแปลง จนไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้กำจัดเชื้อดังกล่าวออกไป และการขับเหงื่อออกมามากขึ้นก็ช่วยลดอุณหภูมิในร่างกายได้ ดังนั้น ถ้าคุณหายป่วยอาการเหงื่อออกมากผิดปกติก็หายไปด้วย
โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง แม้ไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองอย่างแน่ชัด แต่อาการเริ่มต้นของผู้ป่วยโรคนี้มีทั้งเบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดอย่างรวดเร็ว อ่อนเพลียโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือกลางคืนเหงื่อออกมาก ถึงแม้จะนอนอยู่ในห้องแอร์ก็ตาม
โรคเบาหวาน สำหรับอาการเหงื่อออกมากผิดปกติเป็นหนึ่งในอาการข้างเคียงของผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 70 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ฉะนั้นเพื่อความปลอดภัย ผู้ป่วยสามารถป้องกันโรคเบาหวานกำเริบด้วยการหมั่นตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือดทุก 4-6 ชั่วโมง อย่างน้อยวันละ 4 ครั้ง ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำแพทย์อย่างเคร่งครัด
ทั้งการรับประทานยา การรับประทานอาหาร และการออกกำลังกาย รวมถึงควรพกลูกอม น้ำผลไม้ น้ำหวาน หรือกลูโคสแบบเม็ดติดตัวไว้ เพื่อช่วยรักษาภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำอย่างทันท่วงที
ภาวะวัยทอง เป็นภาวะที่ฮอร์โมนในร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลงไปจนขาดความสมดุล ส่งผลให้ผู้ที่เข้าสู่วัยทองมีเหงื่อออกมากในตอนกลางคืน อารมณ์แปรปรวน รู้สึกร้อนวูบวาบที่ผิวบริเวณศีรษะหรือหน้าอก อ่อนเพลีย หรือวิงเวียนศีรษะ หากพบสัญญาณเตือนดังกล่าวควรไปพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษา
ดังนั้น ภาวะ "เหงื่อออกตอนกลางคืน" จึงอาจไม่ได้เกิดเฉพาะผู้ป่วยโควิด "โอไมครอน" เท่านั้น แต่ยังบ่งบอกถึงโรคอื่นได้ด้วย เพราะฉะนั้นควรรักษา และปรึกษาแพทย์ ตามโรคที่เป็นจะดีที่สุด
ขอบคุณข้อมูล hugsinsurance
ข่าวที่เกี่ยวข้อง