"ยาสามัญประจำยุคโควิด" และไอเทมที่ควรติดบ้าน มีอะไรบ้าง รวบรวมมาให้แล้ว
เช็คเลย "ยาสามัญประจำยุคโควิด" พร้อมอุปกรณ์ที่ควรมีติดบ้านไว้ เพื่อรักษาอาการเบื้องต้น แนะปรึกษาเภสัชกรหรือแพทย์ก่อนการใช้ยา
ในช่วงการแพร่ระบาด โรคโควิด นอกจากการรักษาที่ใช้ยาต้านไวรัสแล้ว มีหลายคำถามว่า หากติดเชื้อ ควรมีสิ่งใดไว้ในบ้านบ้าง ไม่ว่าจะเป็น ยาสามัญประจำบ้าน อุปกรณ์ เครื่องมือแพทย์ ซึ่งวันนี้ ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ "ยาสามัญประจำยุคโควิด" พร้อมสิ่งที่ควรมีติดบ้านมาไว้ให้ในนี้แล้ว
"ยาสามัญประจำยุคโควิด" ที่ต้องมี
- ยาลดไข้ พาราเซตามอล
ทานเมื่อมีไข้ อุณหภูมิร่างกายสูงเกิน 37 องศา หรือมีอาการปวดต่างๆ
- ยาแก้แพ้
ทานเท่าที่จำเป็นและควรรับประทานเพียงวันละครั้ง เพราะออกฤทธิ์ได้นานเกือบ 24 ชั่วโมง
- ยาแก้ไอ
หากไอแบบมีเสมหะ ควรใช้ยาแก้ไอที่มีฤทธิ์ช่วยละลายเสมหะ หากไอแห้ง ควรใช้ยาประเภทกดอาการไอ
- ยาละลายเสมหะ
ทานเมื่อมีอาการไอร่วมกับการมีเสมหะ และควรดื่มน้ำอุ่นมากๆ และพักผ่อนให้เพียงพอ
- ยาลดน้ำมูก
ช่วยให้หายใจสะดวก อาจมีผลข้างเคียง เช่น น้ำมูก-คอ-ปากแห้ง ง่วงซึม ผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับตับและไตควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา
- ผงเกลือแร่ ORS
ผู้ที่มีอาการท้องเสียหรืออาเจียนสามารถทานได้ โดยผสมน้ำสะอาดและสามารถจิบได้เรื่อยๆ ทั้งวัน
- ยาฟ้าทะลายโจร
ยาสมุนไพรใช้บรรเทาอาการไข้หวัดและเจ็บคอ
ข้อควรระวัง คือ ต้องเลือกที่ปลอดภัยและผ่านการรับรองจาก อย. ไม่ควรทานเกินวันละ 180 มิลลิกรัม ติดต่อกันเกิน 5 วัน และ ไม่ควรทานร่วมกันยาที่มีฤทธิ์ลดการแข็งตัวของเลือด
- ยาอื่นๆ
เช่น ยาธาตุน้ำแดง ยาธาตุน้ำขาว ยาแก้ไอน้ำดำ ยาหม่อง ยาดม แผ่นเจลลดไข้ น้ำเกลือสำหรับกลั้วคอและล้างแผล เป็นต้น
- ยาประจำตัว
ควรมียาประจำตัวสำรองไว้ 1-2 เดือน เพื่อลดการเดินทาง และเผื่อเหตุการณ์ฉุกเฉิน
อุปกรณ์ที่ต้องมี
- ปรอทวัดไข้
หากอุณหภูมิที่สูงกว่า 37.8 องศาเซลเซียส ถือว่ามีไข้
- เครื่องวัดระดับออกซิเจนปลายนิ้ว
หากค่าออกซิเจนต่ำกว่า 95% ควรรีบติดต่อแพทย์
- ชุดตรวจโควิด
- หน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ
กลุ่มยานี้สามารถซื้อไว้ติดบ้านเพื่อรักษาอาการในเบื้องต้น
หากท่านมีอาการคล้ายโควิด-19 หรือเป็นกลุ่มเสี่ยง ควรตรวจให้แน่ใจว่าติดเชื้อโควิดหรือไม่ เพื่อให้แน่ใจว่าจะได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง นอกจากนี้ยาทุกชนิดอาจมีผลข้างเคียง และอาจมีอันตรายหากใช้ไม่ถูกต้องเหมาะสม
แนะนำให้ปรึกษาเภสัชกรหรือแพทย์ก่อนการใช้ยา
ที่มา : สำนักงานประกันสังคม