"โอไมครอน" ดุ ฟาวิพิราเวียร์เอาไม่อยู่ มียา 2 ตัว ลดป่วยหนัก-ตาย และฉีดวัคซีน
"โอไมครอน" ดุ สำหรับกลุ่มเสี่ยง ฟาวิพิราเวียร์เอาไม่อยู่ "หมอมนูญ" เผย มียา 2 ตัว ลดป่วยหนัก-ตาย เน้นย้ำฉีดวัคซีน
อัปเดตสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ "โอไมครอน" หรือ "โอมิครอน" ที่ดันตัวเลขผู้ป่วยปอดอักเสบ และผู้เสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม 608 ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน
ล่าสุด "หมอมนูญ" นายแพทย์ มนูญ ลีเชวงวงศ์แพทย์ประจำโรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ค หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC ระบุว่า ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มเสี่ยงเมื่อติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน มีโอกาสสูงที่จะเกิดปอดอักเสบ ป่วยหนักต้องเข้าไอซียู ใส่เครื่องช่วยหายใจ และเสียชีวิตได้โดยเฉพาะคนที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ฉีดเข็มเดียว หรือฉีดครบสองเข็มแต่ยังไม่ได้รับเข็มกระตุ้น ผู้ป่วยกลุ่มนี้ควรได้ยาต้านไวรัสตัวใหม่ ที่มีประสิทธิภาพสูง
เช่น ยาโมลนูพิราเวียร์ หรือในอนาคตอันใกล้ ยาแพกซ์โลวิด ภายใน 5 วันแรกที่เริ่มป่วย ซึ่งยาใหม่ 2 ขนานนี้มีหลักฐานช่วยลดการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ ไม่ใช่ยาฟาวิพิราเวียร์
"หมอมนูญ" ยกเคสผู้ป่วยชายอายุ 85 ปี เป็นโรคกระดูกพรุน เคยกระดูกสะโพกหัก เดินไม่ได้ นอนติดเตียง เป็นโรคความดันโลหิตสูง ต่อมลูกหมากโต มาตรวจตามปกติ วันที่ 12 มีนาคม 2565 ทั่วไปแข็งแรงดี ความดันปกติ ไม่อ้วน รู้ตัวดี ขยับแขนขาได้ แต่เดินไม่ได้ ผู้ป่วยยังไม่เคยฉีดวัคซีนโควิดแม้แต่เข็มเดียว แนะนำให้รีบฉีดโดยด่วน ลูกสาวติดต่อ อบจ. ส่งเจ้าหน้าที่มาฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาเข็มแรกที่บ้านวันที่ 18 มีนาคม 2565
วันที่ 24 มีนาคม 2565 ลูกสาวติดเชื้อโควิด คนไข้เริ่มมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ตรวจ ATK และ RT-PCR ให้ผลบวกวันที่ 26 มีนาคม 2565 โรงพยาบาลใกล้บ้านส่งยาฟาวิพิราเวียร์ให้กินที่บ้านจนครบ 5 วัน อาการไม่ดีขึ้น เหนื่อยมากขึ้น ต้องรับเข้าห้องไอซียู วันที่ 31 มีนาคม 2565 ใส่เครื่องช่วยหายใจ ได้ยาเรมเดซิเวียร์ชนิดฉีด ก็ไม่ดีขึ้น อาการแย่ลง ความดันตก ไตวายเฉียบพลัน เสียชีวิตวันที่ 4 เมษายน 2565 ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านน่าเสียดาย ถ้าผู้ป่วยรายนี้ได้รับการฉีดวัคซีนเร็วกว่านี้ คงจะช่วยไม่ให้เสียชีวิตได้