โควิด-19

"หมอธีระ" เปิดเหตุผล "โควิด" ไทยตายพุ่งอันดับ 10 โลก ยกบทเรียนหมู่เกาะฟาโร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"หมอธีระ" เปิดเหตุผล "โควิด" Omicron ไทยตายพุ่งเป็นอันดับ 10 โลก ยกบทเรียนหมู่เกาะฟาโร รับมือ อย่าล่อด้วยกิเลส

สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด สายพันธุ์ "โอไมครอน" Omicron ที่กำลังระบาดอย่างหนัก ดันตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น จนเมื่อวานนี้อยู่อันดับ 9 ของโลก นอกจากนั้น ยอดผู้เสียชีวิตยังพุ่งสูงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน 

 

 

(6 เมษายน 2565) "หมอธีระ" รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ค Thira Woratanarat ระบุว่า ทะลุ 493 ล้าน เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 1,218,635 คน ตายเพิ่ม 3,382 คน รวมแล้วติดไปรวม 493,743,100 คน เสียชีวิตรวม 6,182,672 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลี และออสเตรเลีย

 

 

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชีย ครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 15 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 88.25 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 75.81 การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็นร้อยละ 36.07 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 22.05

 

สถานการณ์ระบาดของไทย

 

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 7 ของโลก และอันดับ 3 ของเอเชีย ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 10 ของโลก

 

บทเรียนจากหมู่เกาะฟาโร

 

หากจำกันได้ ต้นเดือนธันวาคม 2564 มีรายงานการระบาดเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ของโรคโควิด-19 ที่หมู่เกาะฟาโร เกิดขึ้นในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่มารวมตัวกันแบบส่วนตัว (private gathering) จำนวน 33 คน พบว่า เกิดการติดเชื้อโรคโควิด-19 กันมากถึง 21 คน หรือ 64% ทั้งนี้ ทุกคนที่ติดเชื้อล้วนมีอาการป่วย แต่ไม่จำเป็นต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล โดยมีการตรวจสอบสายพันธุ์ไวรัสพบว่าเป็นสายพันธุ์ Omicron ถึง 13 คน ที่สำคัญคือ ทุกคนได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นมาเรียบร้อยแล้ว (fully vaccinated and boosted) และได้มีการตรวจคัดกรองโรค 36 ชั่วโมงก่อนจะมาเจอกัน เหตุการณ์ข้างต้นนำไปสู่การสอบสวนโรคและกักตัวคน ที่สัมผัสใกล้ชิดรวม 70 คนในเวลาต่อมา

 

"หมอธีระ" เปิดเหตุผล "โควิด" ไทยตายพุ่งอันดับ 10 โลก ยกบทเรียนหมู่เกาะฟาโร

"หมอธีระ" ระบุว่า เรื่องที่เล่ามานั้น สะท้อนความจริงที่เราเห็นในสถานการณ์ปัจจุบันคือ ฉีดวัคซีนครบแล้ว ฉีดเข็มกระตุ้นแล้ว ก็ยังติดเชื้อได้ และแม้จะตรวจคัดกรองมาก่อน ก็อาจตรวจไม่พบ เพราะคนใดคนหนึ่งอาจเพิ่งรับเชื้อมา ยังอยู่ในช่วงระยะเวลาฟักตัวของโรค หรืออาจติดเชื้ออยู่ แต่ปริมาณเชื้อยังไม่มากพอที่จะตรวจพบจากวิธีตรวจคัดกรองที่ใช้ และยังไม่มีอาการให้เห็นบทเรียนจากหมู่เกาะฟาโรนั้น หากทั่วโลกรวมถึงไทยเราได้ติดตามรายละเอียด และนำมาใช้วางแผนรับมือ อาจทำให้ลดผลกระทบ ไม่ให้เกิดการติดเชื้อมาก และมีป่วยและเสียชีวิตเพิ่มขึ้น
ดังที่กำลังประสบอยู่ขณะนี้ เพราะสะท้อนให้เห็นว่า 

 

 

หนึ่ง วัคซีนน่าจะเป็นอาวุธเพื่อใช้หวังผลในแง่ลดความเสี่ยงในการป่วยรุนแรง และลดความเสี่ยงในการเสียชีวิต แต่ยากที่จะหวังผลหลักในการป้องกันการติดเชื้อและป้องกันการป่วย ยิ่งหากสัดส่วนของประชากรในประเทศ ยังได้วัคซีนเข็มกระตุ้นน้อย ก็ยิ่งต้องระวังมาก ไม่ผลีผลามกระโจนตามประเทศอื่นที่มีอัตราการฉีดวัคซีนครอบคลุมมากกว่า เพราะหากเกิดปัญหาขึ้นมา ผลกระทบจะเกิดขึ้นมากและยาวนาน

 


สอง ยุทธวิธีหลักในการควบคุมการระบาดของ Omicron ที่ควรทำคือ การเน้นย้ำเรื่องการป้องกันการติดเชื้อแพร่เชื้อ ลดพฤติกรรมเสี่ยง ให้แก่ประชาชนทุกคยในประเทศ ไม่ใช่สร้างภาพฝันที่เป็นไปไม่ได้ในเวลาอันสั้น เช่น วางแผนการถอดหน้ากาก หรือโปรโมทว่าจะเสรีการใช้ชีวิต โดยปราศจากการป้องกัน จะเฮโลสาระพาประกาศให้เป็นโรคประจำถิ่น 
ทั้ง ๆ ที่องค์ประกอบต่าง ๆ ไม่มีทางเป็นไปได้ในเวลาไม่กี่เดือน เหนืออื่นใด ปัญหาที่ทั่วโลกให้ความสำคัญมากคือ ผลกระทบระยะยาวที่เกิดขึ้นได้หลังการติดเชื้อโรคโควิด-19 คือ Long COVID ที่จะทำให้ประชากรจำนวนมากในประเทศตกอยู่ในภาวะที่บั่นทอนสมรรถนะในการดำรงชีวิตประจำวัน และการทำงาน รวมถึงทำให้เกิดปัญหาโรคเรื้อรังต่าง ๆ ตามมาในระยะยาว หัวใจสำคัญของการประคับประคองให้ทุกคนอยู่รอดปลอดภัยในสถานการณ์ระบาดระยะยาวนั้นคือ การนำเสนอสถานการณ์จริงให้คนในสังคมรู้เท่าทัน โปร่งใส ตรวจสอบได้ ไม่ทำให้เกิดข้อกังขา, การจัดหายาและวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ และมีปริมาณเพียงพอ เป็นที่ยอมรับและเป็นไปตามมาตรฐานการแพทย์สากล, การจัดระบบบริการดูแลรักษา และฟื้นฟูสภาพเพื่อรองรับปัญหาปัจจุบัน (COVID-19) และอนาคต (Long COVID) อย่างครอบคลุม ทั่วถึง เข้าถึงได้ง่าย และมีความเพียงพอ, และที่สำคัญที่สุดคือ 
การกระตุ้นเตือนให้คนในสังคมทราบความจริงว่า การป้องกันตัวระหว่างดำเนินชีวิตประจำวัน เรียน ทำงาน ค้าขาย พบปะสังสรรค์ต่าง ๆ นั้น ยังจำเป็นต้องทำไปอย่างต่อเนื่อง จนกว่าการระบาดของโลกนั้นจะดีขึ้น โดยยากที่จะกำหนดเงื่อนเวลาแบบฟันธงได้ในเร็ววัน ไม่ล่อด้วยกิเลส แต่ยืนบนพื้นฐานความจริง นี่คือสิ่งที่จะทำให้เรารอดชีวิตท่ามกลางสถานการณ์วิกฤต 

 

 

 

เครดิตภาพ: 
Peluso MJ et al. Early clues regarding the pathogenesis of long-COVID. Trends in Immunology. April 2022.

logoline