โควิด-19

"เดลตาครอน" ไทยเจอเสี่ยง 73 ราย ส่วนใหญ่ติดโอไมครอน BA.2 กว่า 82.9%

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"เดลตาครอน" โควิดลูกผสมไทยเจอเสี่ยง 73 ราย เผยพบเสี่ยงตั้งแต่ม.ค. ระบุขณะนี้คนไทยติด BA.2 แล้วกว่า 82.9% ยืนยันแพร่เร็วกว่า ตรวจจับได้ง่ายกว่า

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงความคืบหน้าการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19  ว่า จากการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19   รวมถึงการติดตามการระบาดของ "เดลตาครอน" โควิดลูกผสม ระหว่าง "เดลตา" และ "โอไมครอน"   โดย สัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 12-18 มี.ค. 2565 พบว่า เป็นโอไมครอน คิดเป็น 99.95% หรือแทบจะระบาด 100 % แล้ว    ส่วนสายพันธุ์ย่อยของโอไมครอน พบ BA.2 จำนวน 1,479 ราย คิดเป็น 78.5% ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นจากที่พบ 51.% และ 67.6% ขณะที่ตัวอย่างจากการติดเชื้อภายในประเทศ เป็น BA.2 ถึง 82.9% ซึ่งคาดว่าจะพบมากขึ้น    แต่ยังไม่มีความแตกต่างเรื่องความรุนแรง  แต่แพร่เร็วกว่า ทำให้ตรวจจับได้มากกว่า โดยขณะนี้เกือบทุกเขตสุขภาพเป็น BA.2 มากกว่า BA.1 ยกเว้นเขตสุขภาพที่ 9 ที่อาจมีการตรวจน้อย ทำให้พบสัดส่วนที่น้อยกว่า ส่วนเขตสุขภาพที่ 4 พบสัดส่วน BA.2 สูงสุด 90% 

นพ.ศุภกิจ  กล่าวต่อว่า จากการตรวจสายพันธุ์ย่อยของ "โอไมครอน" เราสุ่มตรวจจากทุกกลุ่ม ทั้งประชาชนทั่วไป เดินทางมาจากต่างประเทศ กลุ่มที่อาการรุนแรงและเสียชีวิต บุคลากรทางการแพทย์ กลุ่มที่มีค่า CT ต่ำหรือติดเชื้อเยอะ กลุ่มคลัสเตอร์ 50 คนขึ้นไป และกลุ่มที่ได้รับวัคซีนครบโดส ซึ่งทุกกลุ่มมีสัดส่วนการติดเชื้อเป็น BA.2 ใกล้เคียงกัน เปอร์เซ็นต์ไม่ได้แตกต่างจากภาพรวม อย่างกลุ่มที่เสียชีวิตพบ BA.2 ประมาณ 60% ดังนั้น BA.2 จึงไม่ได้มีอิทธิฤทธิ์อิทธิเดชทำให้เสียชีวิตมากขึ้น   ส่วนกรณีสายพันธุ์ BA.2.2 ในฮ่องกง ขณะนี้ก็เงียบไปแล้ว และไม่ได้มีการยืนยันว่า การเสียชีวิตที่เพิ่มมากขึ้นมาจาก BA.2.2 หรือไม่ นอกจากนี้ ทาง GISAID ก็ยังไม่ได้ประกาศชื่อ BA.2.2 หรือ BA.2.3 อย่างเป็นทางการ ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลว่าสามารถระบาดการแพร่เร็ว ความรุนแรง หรือการหลบวัคซีน ส่วนประเทศไทยมีการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว 500-600 รายต่อสัปดาห์ พบว่า BA.2.2 ในประเทศ 14 ราย จากต่างประเทศ 8 ราย และ BA.2.3 ในประเทศ 27 ราย ต่างประเทศ 34 ราย ซึ่งสัดส่วนก็สอดคล้องกับ GISAID ที่พบ BA.2.2 น้อยกว่า BA.2.3 ซึ่งการกลายพันธุ์ส่วนนี้ไม่อาจจะหายไป 
 

นพ.ศุภกิจ  กล่าวว่า ส่วน "เดลตาครอน"  ช่วงแรกที่พบในไซปรัสเป็นการปนเปื้อน ซึ่งการพบ 2 เชื้อนั้นจะมี 2 กรณี คือ ตรวจพบ 2 สายพันธุ์ในคนเดียวกัน คือ เชื้อ 2 เชื้ออยู่ในคนเดียวกัน และกรณีเชื้อ 2 สายพันธุ์ผสมกันและออกลูกหลาน โดยมีทั้ง 2 สายพันธุ์ในนั้น เรียกว่าไฮบริด หรือ Recombinant ซึ่ง "เดลตาครอน" ที่พบมาจากทั้งโอไมครอนในส่วนของ BA.1 และเดลตา AY.4 ซึ่งรายงานเข้า GISAID ประมาณ 4,000 กว่าราย แต่มีที่ตรวจสอบและยอมรับอย่างเป็นทางการ 64 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในฝรั่งเศว 50 กว่าราย ที่เหลืออีก 4,000 กว่าราย  ยังต้องรอวิเคราะห์เพิ่มเติมว่าใช่เดลตาครอนหรือไม่ ซึ่งในส่วนนี้มีข้อมูลจากไทยที่ส่งเข้าไปด้วยประมาณ 70 กว่าราย

 

 

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่าขณะนี้ GISAID ยอมรับ "เดลตาครอน"  แล้ว 64 ราย เหลืออีก 4 พันรายที่รอตรวจสอบข้อมูล จริง ๆ ที่ได้ยินข่าวเจอที่อังกฤษมาก แต่ยังไม่ได้มีการส่งข้อมูลเข้าไป ส่วนของไทยเมื่อถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัวพบ 73 รายเข้าข่ายว่าเป็นเดลตาครอน แต่ผู้เชี่ยวชาญยังต้องช่วยกันดูว่าสรุปแล้วใช่จริงหรือไม่ ทั้งหมดไม่ใช่ตัวอย่างที่เกิดใน 1-2 สัปดาห์นี้ แต่เกิดขึ้นช่วง ธ.ค. 2564- ม.ค. 2565 ซึ่งยังมีเดลตากับโอมิครอนกันมาก ทำให้มีโอกาสผสมกันได้มาก โดยคนไข้ทั้ง 73 รายหายเรียบร้อยดีแล้ว ไม่มีเสียชีวิต อาจจะเป็นพันธุ์ผสมอันหนึ่งที่ไม่ได้หนักหนา และถ้าไม่แพร่เร็ว อีกสักระยะก็จบ และแม้ว่าจะเป็นสายพันธุ์หนักแต่ไม่แพร่เร็วเหมือนเบตาก็จะหายไป

 

 

"สรุปแล้วประเทศไทยเป็นโอมิครอนเกือบทั้งหมด เดลตาหายาก ส่วนอัลฟาและเบตาหายไปหมดแล้ว สายพันธุ์ย่อยโอมิครอนเป็น BA.2 ขึ้นมาเกือบ 80% และจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วน BA.2.2 และ BA.2.3 เจอประปรายจากการตรวจถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว โดยจะตรวจว่ามีการเพิ่มมากน้อยแค่ไหน ขณะที่เดลตาครอน GISAID ยืนยันทางการ 64 ราย ยังรอการวิเคราะห์ทวนสอบข้อมูลอีก 4 พันกว่าราย ซึ่งรวมถึงของไทยที่ส่งไป 73 ราย แต่ยังเป็นแค่สายพันธุ์ที่ต้องติดตาม ไม่มีข้อมูลเพียงพอเรื่องแพร่เร็ว รุนแรง หรือหลบภูมิ ส่วนมาตรการป้องกันต่างๆ ยังใช้ได้ ต้องเร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เพราะโอมิครอนหลบภูมิได้เยอะ หากมีภูมิไม่พออาจมีโอกาสติดเชื้อง่ายขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม 608 ยังต้องเร่งฉีดวัคซีน" นพ.ศุภกิจ กล่าวสรุป  

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ