โควิด-19

เปิด 5 ปัจจัยหลัก ทำไมคนติด "โควิด" จึงเสี่ยงเป็น "โรคเบาหวาน" สูงกว่าคนปกติ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"หมอธีระ" เปิด 5 ปัจจัยหลัก ทำไมคนติด "โควิด" จึงเสี่ยงเป็น "โรคเบาหวาน" สูงกว่าคนปกติถึง 40% ทั้งเด็กและผู้ใหญ่

จากกรณีที่ก่อนหน้านี้ "หมอธีระ" รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า เด็กที่ติดเชื้อ "โควิด" จะเสี่ยงต่อการเป็น "โรคเบาหวาน" ชนิดที่ 1 (IDDM) เพิ่มขึ้นกว่าเด็กที่ไม่ติดเชื้อถึง 166% หรือ 2.66 เท่า รวมทั้งผู้ใหญ่ที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 (NIDDM) สูงกว่าคนทั่วไป ที่เคยมีประวัติติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน จากสาเหตุอื่น ๆ ถึง 28% หรือ 1.28 เท่า

 

 

ล่าสุด "หมอธีระ" โพสต์เฟซบุ๊ค Thira Woratanarat ระบุถึงกลไกการเกิด "โรคเบาหวาน" หลังติดเชื้อโรคโควิด-19 ว่า หลักฐานจากการวิจัยทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ชี้ให้เห็นว่า คนที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคเบาหวานมากกว่าคนที่ไม่ติดเชื้อ ความเสี่ยงเกิดได้ทั้งผู้ใหญ่ และเด็ก ซึ่งกลไกที่ทำให้เกิดเบาหวานนั้น มีการตั้งสมมติฐานหลายประเด็นที่อาจเป็นไปได้ ดังนี้

 

 

 

  1. ไวรัส SARS-CoV-2 อาจติดเชื้อและแบ่งตัวในเซลล์ของตับอ่อน และทำลายเซลล์ทั้งประเภท exocrine และ endocrine
  2. จากการชันสูตรศพผู้ป่วยที่เสียชีวิตพบว่า การติดเชื้อโรคโควิด-19 นั้นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเบต้าเซลล์ ซึ่งทำหน้าที่ในการผลิตอินซูลิน โดยกระบวนการเปลี่ยนแปลงนั้น ผ่าน eIF2 signaling pathway
  3. การทำให้เกิดการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติผิดปกติไป (autonomic dysfunction) 
  4. การทำให้เกิดภาวะภูมิต่อต้านตนเอง (induced autoimmunity)
  5. การทำให้เกิดกระบวนการอักเสบเรื้อรัง/ต่อเนื่อง (low grade inflammation) 

 

 

เปิด 5 ปัจจัยหลัก ทำไมคนติด "โควิด" จึงเสี่ยงเป็น "โรคเบาหวาน" สูงกว่าคนปกติ

นอกจากนี้ "หมอธีระ" ยังอัปเดตล่าสุดเรื่องการเกิด "โรคเบาหวาน" ในผู้ป่วย Long COVID ล่าสุด Xie Y และคณะจากสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่ผลงานวิจัย
ในวารสารการแพทย์ระดับสากลด้านโรคเบาหวาน และโรคต่อมไร้ท่อ The Lancet Diabetes & Endocrinology เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2565 ศึกษาจากข้อมูลผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรค "โควิด" ระหว่าง 1 มีนาคม 2563 ถึง 30 กันยายน 2564 จำนวนถึง 181,280 คน พบว่า หากติดตามไป 12 เดือน คนที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 มาก่อน ทุก 1,000 คน จะมีโอกาสเกิดโรคเบาหวานขึ้นใหม่สูงกว่ากลุ่มประชากรที่ไม่ได้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ราว 14 คน (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 12·11–14·84 คน) ประเมินความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน พบว่า คนที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคเบาหวานขึ้นในระยะเวลา 12 เดือน สูงกว่าคนที่ไม่ติดเชื้อโรคโควิด-19 ถึง 40% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 36%-44%)

 

 

 

ทั้งนี้ ความเสี่ยงที่จะเกิด "โรคเบาหวาน" ขึ้นนั้น พบว่าแปรผันไปตามระดับความรุนแรงของการป่วยตอนที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 ด้วย ยิ่งป่วยรุนแรงความเสี่ยงยิ่งมาก ต้องเน้นย้ำว่า ไม่ว่าจะติดเชื้อแล้วจะรุนแรงหรือไม่รุนแรง ก็มีความเสี่ยงต่อ "โรคเบาหวาน" มากกว่าคนที่ไม่ติดเชื้อ 

 

 

 

เปิด 5 ปัจจัยหลัก ทำไมคนติด "โควิด" จึงเสี่ยงเป็น "โรคเบาหวาน" สูงกว่าคนปกติ

 

 

อย่างไรก็ตาม คงต้องมีการติดตามผลการศึกษาต่อไปว่า กลไกใดที่จะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดเบาหวานในกลุ่มที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 แต่การป้องกันตัวอย่างเป็นกิจวัตรนั้นเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง ไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุดดังนั้นไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุด

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ