โควิด-19

"เดลตาครอน" ไวรัสลูกผสมตัวใหม่ ทำความรู้จัก น่ากลัวกว่า "โอไมครอน" หรือไม่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"เดลตาครอน" Deltacron ไวรัสลูกผสมตัวใหม่ "อ.เจษฎ์" ไขข้อข้องใจ ชวนทำความรู้จัก น่ากลัวกว่า "โอไมครอน" หรือไม่

จากกรณีที่ องค์การอนามัยโลก หรือ  WHO ออกแถลงการณ์  ยืนยันว่า เชื้อโควิดกลายพันธุ์ ระหว่างสายพันธุ์ "โอมิครอน" หรือ "โอไมครอน" กับเดลตาที่เรียกว่า "เดลตาครอน" พบแล้วจริง และขณะนี้เริ่มพบการระบาดแล้วในหลายประเทศ 

 

 

"อ.เจษฎ์" รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊ค อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์  ระบุว่า มีหลักฐานว่า "ไวรัสลูกผสม "เดลตาครอน" Deltacron น่าจะมีจริง แต่ยังไม่ได้มีอะไรน่ากังวลครับ" 

 

 

โดย อ.เจษฎ์ ได้ให้ข้อมูล เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้มากขึ้น ดังข้อมูลด้านล่างนี้ 

 

1. การค้นพบไวรัส Deltacron ในประเทศฝรั่งเศส

 

  • กลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คณะผู้วิจัยจากสถาบันปาสเตอร์ the Institut Pasteur ในประเทศฝรั่งเศส ได้นำเสนอลำดับพันธุกรรมทั้งหมด (หรือจีโนม genome) ของเชื้อไวรัสโควิด SARS-CoV-2 ที่มีตำแน่งของเชื้อตัวนี้บนแผนภูมิต้นไม้ ที่แปลกมาก (ดูภาพประกอบ เส้นสีส้ม ที่มีกล่องสีส้มล้อม) ลงในฐานข้อมูลด้านระบาดวิทยา ( คลิกอ่านต้นฉบับ
  • จากข้อมูลในนั้น ระบุว่า ไวรัสตัวนี้ได้มาจากชายสูงอายุคนหนึ่งในทางตอนเหนือของประเทศฝรั่งเศส และลำดับจีโนมของมันนั้น มีส่วนประกอบหลักๆเหมือนกับเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตา (ดูภาพประกอบ พวกเชื้อที่ใช้เส้นสีเขียว) แต่มีพันธุกรรมส่วนใหญ่ในบริเวณที่เกี่ยวกับโปรตีนหนาม (spike protein) ที่คล้ายกับสายพันธุ์โอมิครอน 
  • ตามแนวทางการตั้งชื่อแบบดั้งเดิม เชื้อไวรัสลูกผสมตัวนี้ ถ้ามีอยู่จริง น่าจะได้รับการเรียกชื่อว่า “XD” แต่สาธารณชนได้ขนานนามมันไปแล้วว่าเป็น “Deltacron เดลตาครอน”

 

 

 

"เดลตาครอน" ไวรัสลูกผสมตัวใหม่ ทำความรู้จัก น่ากลัวกว่า "โอไมครอน" หรือไม่

 

 

2. การค้นพบไวรัส Deltacron ในประเทศสหรัฐอเมริกา

 

  • หลังจากนั้นหนึ่งเดือน คณะวิจัยอีกทีมหนึ่ง ก็ได้นำเสนอหลักฐานเบื้องต้นของพวกเขา ว่ามีเคสแบบเดียวกันนี้ อีก 3 เคส ซึ่งพบในประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างที่เชื้อโอมิครอนระบาดอย่างหนัก ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2021 ถึงช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2022

3. การเกิดไวรัสโควิดลูกผสม ก่อนหน้านี้

 

 

  • นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการรายงานถึงไวรัส SARS-CoV-2 ที่เป็นลูกผสมระหว่างสายพันธุ์ แต่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้ว และโดยมากจะเป็นการผสมกับสายพันธุ์อัลฟ่า Alpha (คลิกอ่านต้นฉบับ)
  • แต่ก็ยังไม่เคยมีไวรัสลูกผสมตัวไหนที่แพร่ระบาดกระจายไปทั่ว และพวกมันก็มักจะหายไปเอง เมื่อมีสายพันธุ์ใหม่ ๆ วิวัฒนาการขึ้นมา 
  • การเกิดลูกผสม หรือการสลับที่กันของลำดับพันธุกรรมในไวรัสเช่นนี้ เป็นสิ่งที่พบเห็นได้เป็นประจำอยู่แล้ว โดยเฉพาะในกรณีของไวรัสไข้หวัดใหญ่ (influenza virus) เนื่องจากมันมีโครงสร้างพันธุกรรมที่ยอมให้เกิดการสลับที่กันของชิ้นส่วนพันธุกรรมทั้งยีนได้ 
  • ดังนั้น ถ้าใครสักคนหนึ่ง ติดโรคโควิดจากเชื้อไวรัส 2 สายพันธุ์พร้อม ๆ กัน (แม้ว่าจะเกิดขึ้นได้ยากมากๆ ก็ตาม) (แต่ก็เกิดได้เวลาที่คนติดเชื้อป่วยกันเป็นแสนเป็นล้านคน)  เชื้อโรคก็จะเกิดกระบวนการ  "รีคอมบิเนชั่น recombination" หรือการผสมรวมกันของลำดับพันธุกรรม ระหว่างที่มันเพิ่มจำนวนตัวขึ้นในร่างกายของผู้ป่วย 
  • ส่วนใหญ่แล้ว การกลายพันธุ์แบบรีคอมบิเนชั่นนี้ มักจะไม่ได้เป็นเรื่องดีสำหรับเชื้อไวรัสเอง พวกมันมักจะตายไป แต่ก็เป็นไปได้เช่นกัน ที่จะมีไวรัสลูกผสมบางตัวที่รอดมาได้ และสามารถจะเพิ่มจำนวนตัว แพร่กระจายต่อไป เหมือนอย่างกรณีของเชื้อ “XD” ที่เจอที่ประเทศฝรั่งเศส 

 

4. แล้วข่าวไวรัสเดลตาครอน จากประเทศไซปรัส ก่อนหน้านี้ล่ะ ?

 

  • เมื่อช่วงต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีการรายงานข่าวใหญ่ไปทั่วโลก ถึงการพบเชื้อเดลตาครอน ในประเทศไซปรัส และมีทั้งคนเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ว่ามีเชื้อลูกผสมตัวนี้จริง 
  • ที่มาของข่าว มาจากการให้สัมภาษณ์สื่อทีวีท้องถิ่นของประเทศไซปรัส โดย Leondios Kostrikis นักจุลชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยไซปรัส โดยอ้างว่าห้องแล็บของเขาตรวจพบกรณีของเชื้อสายพันธุ์เดลตา ที่มีการกลายพันธุ์ของลำดับพันธุกรรมบางส่วน (ไม่มากนัก) ซึ่งดูคล้ายกับของสายพันธุ์โอมิครอน (ซึ่งผมเคยโพสต์อธิบายตอนนั้นแล้วว่า มันควรจะเรียกว่าเป็น เดลตากลายพันธุ์ไปคล้ายโอมิครอน แทนที่จะเรียกว่า ลูกผสม)
  • แต่นักวิทยาศาสตร์หลายคน รวมทั้งขององค์การอนาม้ยโลก ได้รีบออกมาแย้งว่า กรณีดังกล่าวนี้ ไม่น่าจะใช่การเกิดไวรัสลูกผสม (แม้ว่าจะเกิดขึ้นได้จากกระบวนการ recombination) เนื่องจากมีหลายคนเชื่อว่า ข้อมูลลำดับพันธุกรรมที่ได้มานั้น แสดงให้เห็นถึงการปนเปื้อนข้ามสายพันธุ์ (cross-contamination) ระหว่างตัวอย่างส่งตรวจ 
  • หรือพูดง่าย ๆ คือ พวกเขาคิดว่า ทีมไซปรัสนั้นได้อ่านลำดับพันธุกรรมที่ปนกันอยู่ ของเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนและเชื้อสายพันธุ์เดลตา ไม่ใช่เป็นลำดับพันธุกรรมของไวรัสลูกผสมระหว่าง 2 สายพันธุ์
  • ในการสัมภาษณ์เมื่อเดือนมกราคม กับวารสาร Nature (คลิกอ่านต้นฉบับ) ทาง Kostrikis ได้อ้างว่า คนอื่นตีความคำพูดเขาผิด และเขายอมรับว่า เชื้อไวรัสจากแล็บเขานั้นไม่ได้เป็นลูกผสมจริง ๆ เขาอธิบายว่าการที่เชื้อที่เขาพบนั้น มีลักษณะคล้ายกับทั้งเชื้อสายพันธุ์เดลตาและโอมิครอน ก็เป็นเพราะวิวัฒนาการแบบลู่เข้าหากัน (convergent evolution) ทำนองเดียวกับที่ค้างคาวและนก มีปีกบินได้คล้ายกัน แต่มาจากคนละสายวิวัฒนาการกัน 
  • เขายังโต้แย้งด้วยว่าตัวอย่างเชื้อของเขาไม่ได้มาจากการปนเปื้อน แต่สุดท้ายก็ยอมถอนออกจากฐานข้อมูลลำดับพันธุกรรม ระหว่างที่รอให้ผู้เชี่ยวชาญท่านอื่น ๆ มายืนยันผลการค้นพบของเขา

 

5. แล้วตกลงว่าเชื้อที่เจอที่ฝรั่งเศสนั้น เป็นไวรัสลูกผสม จริงหรือเปล่า ?

 

  • คราวนี้ เหล่านักวิทยาศาสตร์ มั่นใจกันมากขึ้นมาก ว่าเชื้อสายพันธุ์ใหม่ที่พบที่ประเทศฝรั่งเศสนั้น มาจากการเกิดรีคอมบิเนชั่นจริง ๆ เพราะข้อมูลลำดับพันธุกรรมในครั้งนี้ ดูชัดเจนกว่าคราวของไซปรัส 
  • และทีมวิจัยของสถาบันปาสเตอร์ ก็รายงานว่า พวกเขาสามารถเพาะเลี้ยงเชื้อนี้ได้ในห้องปฏิบัติการด้วย (อ้นนี้เป็นหลักฐานสำคัญเลย ว่ามีเชื้อไวรัสอยู่จริง ไม่ใช่แค่ลำดับพันธุกรรม) แสดงว่า มันไม่ได้เป็นผลลัพธ์มาจากการปนเปื้อนข้ามตัวอย่างกัน 

 

6. น่ากังวลแค่ไหน กับเชื้อลูกผสมโควิดอย่าง เดลตาครอน

 

  • การที่พบเชื้อสายพันธุ์ใหม่ ที่รวมสารพันธุกรรมจากเชื้อเดิม 2 สายพันธุ์ ไม่ได้แปลว่า มันจะรวมเอาลักษณะที่อันตรายจากทั้งสองนั้นเอาไว้ 
  • เชื้อเดลตา และโอมิครอน ยังเป็นไวรัสที่มีความแตกต่างกันมาก โดยเฉพาะการที่มันเข้าโจมตีเซลล์ของร่างกายเราด้วยวิธีที่ต่างกัน และวิธีการในต่อสู้กับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเราของพวกมันยังแตกต่างกันอีกด้วย การ mix & match ผสมกันระหว่างเดลตากับโอมิครอน จึงอาจจะทำให้มีเก่งขึ้น หรือทำให้มันแย่ลง ก็ได้

 

 

อ.เจษฎ์ สรุปความคืบหน้าล่าสุดว่า ตั้งแต่มีการพบเชื้อไวรัสลูกผสม "เดลตาครอน" เป็นครั้งแรกตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ตอนนี้มีรายงานการพบเพิ่มเติมมาเป็นประมาณ 30 เคสแล้วในประเทศฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และเดนมาร์ก (โดยไม่ชัดเจนว่าพวกมันมาจากจุดกำเนิดเดียวกันหรือเปล่า) แสดงว่าเชื้อนี้สามารถแพร่กระจายได้ แต่ก็ยังมีจำนวนน้อยมากเกินกว่าที่จะระบุได้ว่า เชื้อลูกผสมนี้ จะเป็นภัยคุกคามที่น่ากังวล ไปกว่าเชื้อสายพันธุ์เดิม ๆ ที่ระบาดอยู่ ตอนนี้ อย่างเช่น โอมิครอน

 

 

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์

ภาพจาก https://user-images.githubusercontent.com
ข้อมูลจาก https://www.popsci.com

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ