โควิด-19

ผู้ป่วยเคยติดโควิด "โอไมครอน" 2 ราย เจอปัญหานี้ ต้องพึ่งยานอนหลับ 2 เดือน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"หมอนิธิพัฒน์" เผย ผู้ป่วยเคยติดโควิด "โอไมครอน" 2 ราย เจอภาวะแบบนี้ ถึงกับต้องพึ่งยานอนหลับนานถึง 2 เดือน แต่ยังไม่ใช่ Long Covid

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก นิธิพัฒน์ เจียรกุล อัปเดตสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด "โอไมครอน" ระบุว่า เหมือนเขาจะใกล้หยุดแล้ว สำหรับจำนวนผู้ป่วย 3 กลุ่มต้องจับตาที่ไม่ใช่ยอดรวม แต่ 3 จังหวัดที่ยังต้องลุ้นว่าตัวเลขจะเป็นสีเขียว (ขาลง) เมื่อไร คือ ชลบุรี นครศรีธรรมราช และสมุทรสาคร ยิ่งถ้ารวมข้อมูล ATK อาจตกหล่นดาวรุ่งไปอีกหลายจังหวัดช่วงนี้ยอดคลื่นเริ่มซัดสาดออกไปจาก กทม.และปริมณฑลแล้ว จึงเห็นยอดในต่างจังหวัดที่กำลังพีค? ส่วนของประเทศพีคแล้ว?

 

 

ผู้ป่วยเคยติดโควิด "โอไมครอน" 2 ราย เจอปัญหานี้ ต้องพึ่งยานอนหลับ 2 เดือน

"หมอนิธิพัฒน์" ระบุว่า คำถามยอดฮิตในการสัมภาษณ์สื่อช่วงนี้ สิ่งแรกคือทำนายการสิ้นสุดการระบาด เหมือนที่กระทรวงหมอออกมาให้ข่าวไหม ในแง่หมุดหมายการเข้าสู่ "โรคประจำถิ่น" คงคล้ายกันคือ ปลาย มิ.ย.ถึงต้น ก.ค. แต่เส้นทางไปสู่จุดนั้นและนิยามของจุดนั้นอาจต่างกันบ้าง เส้นทางไปถึงห้วงโรคหยุดการระบาดนั้น เชื่อว่าจุดสูงสุดผ่านมาแล้ว 
แต่เป็นจุดสูงสุดที่เป็นระนาบยาวไม่เหมือนประเทศอื่น แล้วจึงค่อยลดลงช้า ๆ เช่น ขาขึ้น ทำให้ช่วงเวลาจุดเปลี่ยนพ้องกับคำทำนายของกระทรวงหมอ เพื่อเข้าสู่การเป็นโรคติดเชื้อ ที่จัดเข้าระบบการดูแลสุขภาพตามปกติของประเทศได้ ถ้าเป็นตามการคาดการณ์ส่วนตัวนี้ ช่วงเทศกาลสงกรานต์จึงไม่น่าจะมีอะไรที่ควรกังวลนัก หากทุกภาคส่วนยังคงระมัดระวังเทียบเท่ากับที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน 
 

 

 

ผู้ป่วยเคยติดโควิด "โอไมครอน" 2 ราย เจอปัญหานี้ ต้องพึ่งยานอนหลับ 2 เดือน

นอกจากนี้ "หมอนิธิพัฒน์" ยังระบุว่า การเดินทางไปมาหาสู่งข้ามจังหวัดคงไม่มีข้อห้ามอะไร การฉีดหรือไม่ฉีดวัคซีนโควิดไม่น่าเป็นข้อกำหนดแล้ว เพราะถ้าไม่ระมัดระวังกิจกรรมรวมกลุ่มที่เสี่ยง ก็มีโอกาสติดต่างกันไม่มากนัก แต่โอกาสรอด หรือไม่พิการจะมากกว่าในคนที่ไม่ฉีดหลายเท่า ดังนั้น ตัวตัดสินการระบาดเพิ่มที่สำคัญ คือ การไม่ใส่หน้ากากเมื่ออยู่ใกล้กันเป็นเวลานาน โดยเฉพาะการกินอาหาร กินเหล้า และร้องรำทำเพลง สำหรับการเดินทางเข้าประเทศ ก็น่าจะยกเลิกการกักตัวได้ในเวลาอีกไม่นานนี้ ถ้าประมาณว่าปัจจุบันมีการติดเชื้อกันราวแปดหมื่นคนต่อวัน เมื่อถัวกับยอดผู้ป่วยอาการหนัก และผู้เสียชีวิตแล้ว อัตราการป่วยรุนแรงระยะนี้จะอยู่ราว 0.5% ส่วนอัตราการใส่เครื่องช่วยหายใจจะอยู่ราว 0.2% และอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 0.1% ซึ่งสามารถนำไปใช้กำหนดจุดที่จะประกาศเข้าสู่โรคประจำถิ่น ซึ่งคือ จำนวนรวม RT-PCR + ATK 10,000 คนต่อวัน เข้าโรงพยาบาลเพราะอาการรุนแรง 50 คนต่อวัน และเสียชีวิต 10 คนต่อวัน

 

 

ผู้ป่วยเคยติดโควิด "โอไมครอน" 2 ราย เจอปัญหานี้ ต้องพึ่งยานอนหลับ 2 เดือน

 

อีกคำถามยอดฮิตหนึ่งคือ ความชุกและความรุนแรงของ "ภาวะลองโควิด" จาก "โอไมครอน" ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าพบน้อยกว่าและรุนแรงน้อยกว่าเดลตา เพื่อนร่วมงานที่บ้านริมน้ำได้ติดตามผู้ป่วยผู้ใหญ่ที่ออกจากโรงพยาบาล ช่วงเดลตาราว 300 คน โดยหนึ่งในสามอาการไม่รุนแรง พบกลุ่มอาการผิดปกตินานเกิน 3 เดือน หรือ ลองโควิด ราวเกือบครึ่งหนึ่ง (มีอาการอย่างน้อยหนึ่งอย่าง) อาการที่พบบ่อยคือ เหนื่อยง่าย (60%) ผมร่วง (36%) และ อ่อนเพลีย (30%) โดยคนที่ป่วยโควิดรุนแรง มีโอกาสเกิดลองโควิดมากกว่าคนที่อาการน้อยสองเท่า ที่น่าสนใจคือ คนที่ได้รับวัคซีนโควิดแม้เพียงหนึ่งเข็ม จะมีโอกาสเกิดลองโควิดน้อยลง 40%

 

 

เมื่อวานตรวจผู้ป่วยหลังฟื้นจาก "โอไมครอน" สองราย แม้ไม่ป่วยหนักทางกายและฟื้นตัวในเวลาอันสั้น แต่ทั้งคู่ยังมีปัญหาการนอน จนต้องพึ่งยานอนหลับกันมากว่า 2 เดือนแล้ว (ถ้าถึงสามเดือนก็จะเข้านิยามลองโควิด) ดังนั้น หากไม่อยากเสี่ยงต่อทั้งอัตราการเสียชีวิตจากโอไมครอนที่ราว 0.1% หรือ อัตราการเกิดลองโควิด ซึ่งคาดว่าไม่น่าถึง 20% (ลดจากเดลตาราวอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง) ควรเข้ารับวัคซีนเข็มมาตรฐาน และเข็มกระตุ้นกันให้ครบถ้วน และไม่ปลดหน้ากากเมื่ออยู่ร่วมกับคนอื่นเวลาออกนอกบ้าน เชื่อว่าสองคาถานี้จะป้องกันสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาให้เกิดกับใครทุกคนได้ มาเอาใจช่วยให้การเจรจายุติศึกยูเครนสิ้นสุดโดยเร็ว ไม่มีการโจมตีโรงพยาบาล และสถานศึกษา และต้องยุติแบบเด็ดขาดไม่ให้เหลือเป็นแม้แต่ศึกประจำถิ่นเช่นโควิด 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ