หยุดวาดฝัน "โรคประจำถิ่น" ต่อให้ฉีดวัคซีนกี่เข็ม ก็ยับยั้งติด-แพร่ไม่ได้
"หมอธีระ" ชี้ หยุดวาดฝันโควิดเป็น "โรคประจำถิ่น" ต่อให้ฉีดวัคซีนกี่เข็ม ก็ไม่สามารถยับยั้งการติด หรือแพร่เชื้อได้
"โรคประจำถิ่น" ใกล้ความเป็นจริงแค่ไหน "หมอธีระ" นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat อัปเดตสถานการณ์โควิดสายพันธุ์ "โอไมครอน" Omicron ทะลุ 452 ล้าน ระบุว่า เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 1,550,689 คน ตายเพิ่ม 5,994 คน รวมแล้วติดไปรวม 452,928,405 คน เสียชีวิตรวม 6,049,774 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้ เยอรมัน ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และญี่ปุ่น จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ/ใต้ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 97.31 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 98.69 ในขณะที่ยุโรปนั้น คิดเป็นร้อยละ 51.33 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 31.61 เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 16 ใน 20 อันดับแรกของโลก
ส่วนสถานการณ์ระบาดของไทย เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 5 ของโลก และอันดับ 2 ของเอเชีย ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน 74 คน สูงเป็นอันดับ 19 ของโลก
อัปเดตความรู้จากงานวิจัย
1. "การมีนโยบายใส่หน้ากากในโรงเรียนช่วยป้องกันโควิด-19 ได้มาก"
Angelique E และคณะ จากสหรัฐอเมริกา เผยแพร่ผลการศึกษาในวารสารการแพทย์ระดับสากล Pediatrics เมื่อวันที่ 9 March 2022 ที่ผ่านมา ทำการศึกษาในหลายรัฐ ตั้งแต่กรกฎาคมถึงธันวาคม 2021 โดยมีนักเรียนถึง 1.12 ล้านคน และบุคลากรในโรงเรียนอีก 157,069 คน โรงเรียนที่ไม่มีนโยบายให้นักเรียน และบุคลากรใส่หน้ากาก จะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแพร่เชื้อมากกว่าโรงเรียนที่ให้ใส่หน้ากากถึง 7.5 เท่า ในขณะที่โรงเรียนที่ใส่บ้างไม่ใส่บ้าง ไม่บังคับ จะมีความเสี่ยงติดเชื้อแพร่เชื้อมากกว่าโรงเรียนที่ให้ใส่หน้ากาก 2.1 เท่า ผลจากการศึกษาในอเมริกานี้ สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของนโยบายการใส่หน้ากากในโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุดมศึกษาฯ รวมถึงผู้บริหารโรงเรียน ทั้งภาครัฐและเอกชน ควรให้ความสำคัญกับเรื่องนโยบายนี้ พร้อมรณรงค์ และสนับสนุน กระตุ้นหนุนเสริมให้บุคลากรในสถานศึกษา และนักเรียนนิสิตนักศึกษาใส่หน้ากากอย่างถูกต้องเหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
2. "Long COVID"
Science ฉบับล่าสุด 10 March 2022 ออกเป็นฉบับพิเศษเกี่ยวกับโควิด-19 ล้วน ๆ บุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนที่สนใจควรหาอ่านอย่างยิ่งบทความวิชาการหนึ่งในนั้นสรุปให้เห็นความรู้วิชาการที่ชัดเจนเกี่ยวกับปัญหาระยะยาวที่จะเกิดขึ้น ภายหลังจากการติดเชื้อโรคโควิด-19 อาการผิดปกติระยะยาวหลังติดเชื้อ หรือภาวะ Long COVID นั้น พบมากขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลก และเกิดได้ทั้งในคนที่ติดเชื้อแล้วไม่มีอาการ มีอาการน้อย หรือมีอาการรุนแรง โอกาสเกิด Long COVID มีราว 20-40% เกิดได้ทุกเพศ ทั้งชายและหญิง แต่หญิงจะบ่อยกว่าชาย ทุกวัย ทั้งเด็ก วัยทำงาน และวัยสูงอายุ โดยผู้ใหญ่พบบ่อยกว่าเด็ก ความผิดปกติเกิดขึ้นได้หลากหลายระบบของร่างกาย ทั้งสมอง/ระบบประสาท หัวใจและหลอดเลือด ต่อมไร้ท่อ กล้ามเนื้อกระดูกและข้อ ผิวหนังทางเดินอาหาร รวมถึงอาการทั่วร่างกาย กลไกที่ทำให้เกิดความผิดปกตินั้น ขณะนี้เชื่อว่า อาจเป็นได้ 4 กลไก ได้แก่ การเกิดการอักเสบตามระบบต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง (Chronic inflammation), การมีไวรัสโควิด-19 หลงเหลือแฝงในเซลล์ต่าง ๆ ของร่างกาย (Viral persistence), การเกิดภูมิต่อต้านตนเอง (Auto-antibody) และภาวะไม่สมดุลของเชื้อโรคที่อาศัยอยู่ในร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางเดินอาหาร (Dysbiosis)
"หมอธีระ" ระบุว่า สถานการณ์ไทยเราขณะนี้ การระบาดรุนแรง กระจายทั่ว และสายพันธุ์ย่อย BA.2 ขยายวงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะมีสมรรถนะในการแพร่เชื้อได้ไวกว่าสายพันธุ์ Omicron ดั้งเดิมอย่าง BA.1 ด้วยสถานการณ์เช่นปัจจุบัน ไม่ใช่เวลามาสร้างกระแสให้คนหลงใหลได้ปลื้ม วาดฝันว่าโควิด-19 จะกลายเป็น "โรคประจำถิ่น" ในระยะเวลาไม่กี่เดือน ทั้งที่เป็นไปได้ยาก ภาวะปกติ หรือ Normal นั้น ใคร ๆ ก็ล้วนปรารถนา ไม่ใช่แค่ไทย แต่เป็นกันทั้งโลก แต่ด้วยความรู้จนถึงบัดนี้ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ และด้านพฤติกรรมศาสตร์ สะท้อนให้เห็นว่า การระบาดของโควิด-19 แบบ pandemic ทั่วโลกมาหลายปีอย่างไม่หยุดหย่อนนั้น เป็นไปไม่ได้เลยที่อาวุธที่มีอยู่ตอนนี้อย่างวัคซีน ต่อให้จะฉีดกี่เข็ม ก็ยับยั้งการติดเชื้อแพร่เชื้อไม่ได้ แม้จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรงและการเสียชีวิตได้ บทเรียนจากหลายประเทศ ที่หวนกลับไปประกาศอิสรภาพให้คนใช้ชีวิตแบบปกติที่คุ้นเคยในอดีต โดยปราศจากการป้องกันตัว ก็นำมาซึ่งผลลัพธ์ที่เห็นคือ ติดเยอะ ป่วยเยอะ และตาย ดังนั้น "ความปกติในอดีต" จึงไม่ใช่ความปกติที่จะกลับมาได้ในสภาวะที่ยังระบาดกันแบบนี้
ควรยอมรับเสียทีว่า "ความปกติ" ที่เป็นไปได้ในระยะถัดจากนี้ไป ต้องเป็น "ความปกติใหม่ที่ปลอดภัยและดีกว่าเดิม" ไม่ใช่ "ความปกติที่อันตราย" แบบในอดีต ทั้งการใช้ชีวิตประจำวัน และการทำงาน
อย่าทำให้เกิด Endemic delusion
อย่าทำให้เกิด Pretendemic เลยครับ
เพราะผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งเรื่อง Long COVID และปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคมจะตามมาระยะยาวอย่างมากมาย การสร้างนโยบายที่ไม่ประมาท ก้าวเดินช้าๆ แต่มั่นคงและปลอดภัยควรเป็นสิ่งที่กระทำ การควบคุมป้องกันโรคในขณะนี้ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอครับ