โควิด-19

"ยูเซ็ปพลัส" เช็คเกณฑ์ใหม่ "ติดโควิด" แบบไหนรักษาฟรี ก่อนเริ่มใช้ 16 มี.ค.65

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดเกณฑ์ใหม่ "ยูเซ็ปพลัส" UCEP Plus "ติดโควิด" สีไหน อาการอย่างไร รักษาฟรี เช็คขั้นตอนก่อนเริ่มใช้ 16 มี.ค.2565

นับตั้งแต่มีการระบาดของ "โควิด" ในปี 2563 โรคนี้ถือเป็นโรคติดต่อจำเป็นที่ต้องได้รับการรักษาพยาบาลฉุกเฉิน กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จึงจัดให้ทุกคนที่ป่วยโควิด ทั้งที่ไม่มีอาการ ไปจนถึงมีอาการรุนแรง สามารถเข้ารักษาในสถานพยาบาลทุกแห่งได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย จนกว่าจะพ้นวิกฤติ หรือสามารถเคลื่อนย้ายได้ปลอดภัย แต่ไม่เกิน 72 ชั่วโมง โดยออกหลักเกณฑ์เบิกค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติกรณีติดเชื้อโควิดขึ้นมา ที่เรียกว่า "ยูเซ็ปโควิด" หรือ "UCEP COVID-19" แต่ต่อมาในปี 2565 เพื่อรองรับการปรับแนวทางบริหารจัดการโรคโควิดของรัฐบาล จากโรคระบาดใหญ่ (Pandemic) ไปสู่ "โรคประจำถิ่น" (Endemic) เพราะแนวโน้มของโรคลดความรุนแรงลง และประชาชนส่วนใหญ่มีภูมิต้านทานจากการฉีดวัคซีน

 

 

คณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงเห็นชอบตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ ปรับหลักเกณฑ์เบิกค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต กรณีติดเชื้อโควิดรูปแบบใหม่ ที่เรียกว่า "ยูเซ็ปพลัส" หรือ "UCEP COVID-19 Plus" ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2565 เป็นต้นไป ดังนั้น เมื่อ "ติดโควิด" จะสามารถเข้ารับบริการสุขภาพได้ที่ใด หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่าย เป็นอย่างไร "คมชัดลึกออนไลน์" ได้รวบรวมไว้ ดังนี้

 

 

 

"ยูเซ็ปพลัส" เช็คเกณฑ์ใหม่ "ติดโควิด" แบบไหนรักษาฟรี ก่อนเริ่มใช้ 16 มี.ค.65

 

ระบบ "ยูเซ็ปพลัส" (UCEP COVID-19 Plus) เป็นการดำเนินงานเพื่อรองรับผู้ป่วยโควิดกลุ่มอาการสีเหลือง สีแดง และสีเขียว ที่อาการเปลี่ยนแปลงเป็นสีเหลือง ให้ใช้สิทธิรักษาในสถานพยาบาลใดก็ได้ที่ใกล้บ้านแบบไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพราะถือเป็นความเร่งด่วน โดยสามารถใช้บริการได้จนรักษาหาย ไม่จำเป็นต้องใช้สิทธิเพียง 72 ชั่วโมงแล้วย้ายกลับไปรักษาในโรงพยาบาลตามสิทธิ ต่างจากระบบยูเซ็ปโควิดเดิม

 

 

"ยูเซ็ปพลัส" เช็คเกณฑ์ใหม่ "ติดโควิด" แบบไหนรักษาฟรี ก่อนเริ่มใช้ 16 มี.ค.65

 

 

ทั้งนี้ หากสถานพยาบาลบางแห่งเอง มีความจำเป็นที่จะต้องส่งตัวผู้ป่วยเข้าไปรักษาที่โรงพยาบาลอื่น เนื่องจากสถานพยาบาลมีศักยภาพไม่เพียงพอ แต่ผู้ป่วย หรือญาติปฏิเสธ หรือมีการขอย้ายด้วยเหตุผลส่วนตัวระหว่างทำการรักษา จะต้องออกค่าใช้จ่ายเอง ส่วนผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเขียว เป็นการปรับเปลี่ยนระบบการรักษาไปสู่การรับบริการตามสิทธิสุขภาพของแต่ละบุคคล เช่น บัตรทอง ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ และประกันสุขภาพ

 

 

แต่กรณีอยู่คนละพื้นที่กับสิทธิที่ตัวเองมี หากใช้สิทธิประกันสังคม สามารถใช้บริการสถานพยาบาลในเครือประกันสังคมได้ และบัตรทอง สามารถใช้สิทธิ "บัตรทองพลัส" รักษาสถานพยาบาลในระบบปฐมภูมิใดก็ได้ อาทิ สถานีอนามัย, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.), ศูนย์สุขภาพชุมชน, ศูนย์บริการสาธารณสุข และคลินิกชุมชนอบอุ่น เรียกว่าเป็น "ผู้ป่วยนอก" (OPD) ซึ่งจะใช้เหมือนโรคทั่วไป

 

 

"ยูเซ็ปพลัส" เช็คเกณฑ์ใหม่ "ติดโควิด" แบบไหนรักษาฟรี ก่อนเริ่มใช้ 16 มี.ค.65
 

สรุปได้ว่า ผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเหลือง สีแดง สีเขียวเปลี่ยนเป็นเหลือง สามารถเข้ารักษาตัวในสถานพยาบาลใดก็ได้ ได้ทุกแห่งฟรีจนกว่าจะหาย ขณะที่กลุ่มสีเขียวจะต้องเข้ารักษาตัวในสถานพยาบาลตามสิทธิที่ตัวเองมีอยู่ตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2565 ถึงจะไม่เสียค่าใช้จ่ายเอง ทั้งในส่วนของค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการ ค่ารักษาพยาบาล และค่าส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉิน แต่หากผู้ป่วยหรือญาติประสงค์รักษาตัวที่สถานพยาบาลเอกชนนอกระบบ จะต้องออกค่าใช้จ่ายเอง

 

 

สำหรับการเช็คระดับอาการโควิดที่จะเข้าใช้ "ยูเซ็ปพลัส" ตามเกณฑ์เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีรายละเอียดดังนี้

 

ป่วยอาการสีเขียว

 

  • มีไข้อุณหภูมิ 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป
  • ลิ้นไม่รับรส จมูกไม่รับกลิ่น
  • ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ
  • ตาแดง มีผื่น และถ่ายเหลว
  • ผู้ป่วยกลุ่มนี้ เป็นกลุ่มที่มีอาการน้อย จะเน้นให้เข้าระบบรักษาตัวที่บ้าน (Home Isolation : HI) หรือชุมชน (Community Isolation : CI) เช่น โรงพยาบาลสนาม ฮอสพิเทล เพื่อสำรองเตียงในโรงพยาบาลเอาไว้รองรับผู้ป่วยโควิดที่ต้องได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด

 

ป่วยอาการสีเหลือง-แดง

 

  • หัวใจหยุดเต้น มีสิ่งอุดกั้นทางเดินหายใจ หายใจลำบาก
  • หอบเหนื่อย หายใจเร็ว
  • มีภาวะช็อก มีภาวะโคม่า ซึมลง
  • มีอาการไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส นานกว่า 24 ชั่วโมง
  • หายใจเร็วกว่า 25 ครั้งต่อนาทีในผู้ใหญ่
  • Oxygen Saturation แรกรับ Room Air น้อยกว่า 94%
  • มีปัจจัยเสี่ยงอาการรุนแรงหรือโรคร่วม เช่น อายุมากกว่า 60 ปี โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคปอดเรื้อรังอื่น ๆ อาทิ ไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหัวใจแต่กำเนิด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานที่คุมไม่ได้ ภาวะอ้วน น้ำหนักเกิน 90 กิโลกรัม หญิงตั้งครรภ์ ตับแข็ง ภูมิคุ้มกันต่ำ และเม็ดเลือดขาวน้อยกว่า1000 เซลล์ต่อไมโครลิตร
  • ในเด็ก กรณีมีอาการหายใจลำบาก ซึมลง ดื่มนมหรือทานอาหารน้อยลง มีOxygen Saturation Room Air มากกว่าหรือเท่ากับ 3 % ขึ้นไป

 

 

ผู้ป่วยกลุ่มนี้ เป็นกลุ่มที่มีอาการในระดับปานกลางไปจนถึงรุนแรง จึงไม่เหมาะที่จะรักษาตัวที่บ้านหรือชุมชน และควรเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล เพื่อให้ได้รับการดูแลจากแพทย์

 

ขั้นตอนการรับบริการยูเซ็ปพลัส

 

หากผู้ป่วยตรวจคัดกรองโควิดด้วย ATK แล้วมีผลเป็นบวก หรือตรวจด้วยวิธี RT-PCR พบติดเชื้อ ให้โทร 1669 เพื่อนำส่งโรงพยาบาลประเมินอาการ หากเข้าเกณฑ์เป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง และสีแดง ก็สามารถใช้สิทธิเบิกจ่ายค่ารักษาโควิดได้

 

 

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้เตรียมศูนย์ประสานงานเอาไว้แล้ว หากประชาชนมีข้อสงสัยในเรื่องสิทธิ "ยูเซ็ปพลัส" หรือไปสถานพยาบาลแล้วไม่ได้รับสิทธิ ทั้งที่ควรได้รับสิทธิ สามารถโทรสอบถามได้ที่เบอร์ 02-872-1669

 

 

"ยูเซ็ปพลัส" เช็คเกณฑ์ใหม่ "ติดโควิด" แบบไหนรักษาฟรี ก่อนเริ่มใช้ 16 มี.ค.65


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ