"โควิด19" เช็คแนวทางรักษาผู้ป่วย 4 กลุ่มอาการ จะได้รับการดูแลอย่างไรบ้าง
"โควิด19" ผู้เชี่ยวชาญเปิดแนวทางรักษา-ดูแล ผู้ป่วย 4 กลุ่มอาการ แต่ละระดับรักษาต่างกันอย่างไร เช็ครายละเอียดแนวทางการดูแลของหมอแบบละเอียดที่นี่
จากสถานการณ์การระบาดของ "โควิด19" ที่ขณะนี้มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ระบบสาธารณสุขเกิดภาวะคอขวดไม่สามารถนำผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษาได้อย่างทันที ในบางรายผู้ติดเชื้อต้องรอรับการรักษานานขึ้น โดยล่าสุด นพ. วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิและรองผู้อำนวยการสถาบันบำราศนราดูร พญ. ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางการรักษา "โควิด19" ในการเสวนา เปิดมุมมองใหม่กับนวัตกรรมการรักษา "โควิด19"
นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิและรองผู้อำนวยการสถาบันบำราศนราดูร ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางการรักษาผู้ป่วย "โควิด19" ฉบับปรับปรุง เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2565 โดยคณะกรรมการกำกับดูแลรักษา "โควิด19" ได้ประกาศเกณฑ์จำแนกผู้ป่วย "โควิด19" โดยแบ่งตามความรุนแรงของโรค ได้แก่
- กลุ่มที่ 1 ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือสบายดี สามารถรักษาตัวเองที่บ้าน โดยไม่จำเป็นต้องได้รับยาต้านไวรัสและโดยแพทย์อาจพิจารณาให้รับประทานยาฟ้าทะลายโจร ตามความเหมาะสม
- กลุ่มที่ 2 ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง โรคร่วมสำคัญ และมีภาพถ่ายรังสีปอดปกติ ผู้ป่วยกลุ่มนี้ ยังคงสามารถรักษาตัวเองที่บ้านได้เช่นเดียวกับผู้ป่วยกลุ่มที่ 1 และแพทย์อาจพิจารณาให้รับประทานยาฟาวิพิราเวียร์ โดยให้เริ่มยาเร็วที่สุด
- กลุ่มที่ 3 ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรงหรือมีโรคร่วมสำคัญ หรือผู้ป่วยที่มีปอดอักเสบเล็กน้อย ยังไม่ต้องให้ออกซิเจน ผู้ป่วยกลุ่มนี้ แพทย์อาจพิจารณาให้รักษาตัวเองที่บ้าน หรือเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล ซึ่งแนวทางการรักษาใหม่ล่าสุด แนะนำให้ยาต้านไวรัสเพียง 1 ชนิด จากยา 4 ชนิด ดังต่อไปนี้ 1) เนอร์มาเทรลเวียร์/ริโทนาเวียร์ (nirmatrelvir/ritonavir) 2) โมลนูพิราเวียร์ (molnupiravir) 3) เรมดิซิเวียร์ และ 4) ฟาวิพิราเวียร์ โดยพิจารณาตามดุลยพินิจของแพทย์
- กลุ่มที่ 4 ผู้ป่วยที่มีปอดอักเสบ หรือมีภาวะออกซิเจนลดลงต่ำกว่า 94% สำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล โดยแพทย์จะพิจารณาให้ยาเรมดิซิเวียร์ ซึ่งเป็นยาฉีด ทั้งนี้ สำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ที่มีอาการไม่หนักมาก หรือมีค่าออกซิเจนอยู่ในช่วง 94% – 96% แพทย์อาจพิจารณาให้ยาโมลนูพิราเวียร์ ได้เช่นกัน
จากแนวทางการรักษาผู้ป่วย "โควิด19" ฉบับล่าสุดนี้ เห็นได้ชัดว่า ได้มีการเพิ่มทางเลือกเพื่อให้แพทย์สามารถบริหารยาได้ง่ายขึ้น โดยยาชนิดใหม่ที่ได้รับการแนะนำในแนวทางการรักษาฉบับนี้และกำลังจะนำเข้ามาในประเทศไทยคือ "โมลนูพิราเวียร์"
กลุ่มที่ 1 กลุ่มแอนติบอดีสำเร็จรูป หรือ monoclonal antibody ยากลุ่มนี้จะทำงานโดยการจับกับโปรตีนหนาม (spike protein) ของไวรัส ทำให้ไวรัสไม่สามารถเกาะและเข้าสู่เซลล์ในร่างกายหรือออกฤทธิ์โดยการจับเพื่อทำลายไวรัส ซึ่งเป็นยาฉีดทั้งหมด เช่น โซโทรวิแมบ (sotrovimab)
กลุ่มที่ 2 ยาต้านไวรัส ซึ่งทำงานโดยการออกฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัส สำหรับยาต้านไวรัสที่ประเทศไทยมีใช้อยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ ฟาวิพิราเวียร์และเรมดิซิเวียร์ รวมทั้งอีก 2 ตัวที่กำลังจะเข้ามาในประเทศไทย ได้แก่ โมลนูพิราเวียร์แลเนอร์มาเทรลเวียร์/ริโทนาเวียร์ ซึ่งตัวที่คาดว่าน่าจะเข้ามาให้ได้ใช้ก่อน คือ โมลนูพิราเวียร์
กลุ่มที่ 3 ยาลดการอักเสบ ยากลุ่มนี้จะช่วยลดอาการอักเสบที่เกิดขึ้นหลังจากการติดเชื้อ มักใช้ในผู้ป่วยที่มีภาวะปอดอักเสบหรือเชื้อลงปอด ตัวอย่างเช่น เดกซาเมทาโซน (dexamethasone)
นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ กล่าวต่อว่า ยังเน้นย้ำถึงเรื่องระยะเวลาในการเริ่มรับประทานยามีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยผู้ป่วยควรได้รับยาต้านไวรัสหรือยากลุ่มแอนติบอดีสำเร็จรูปหลังจากตรวจพบเชื้อโควิด-19 โดยเร็วที่สุด เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการรักษา ดังนั้น การมาพบแพทย์เร็ว เพื่อรับการวินิจฉัยและรับยาทันทีจึงมีความสำคัญมาก
ด้าน ศ. พญ.ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุขในการพิจารณาให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น โดยมีรายละเอียดดังนี้
- ยอดผู้ติดเชื้อต้องน้อยกว่าวันละ 10,000 คน
- อัตราของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลต้องน้อยกว่าร้อยละ 10 และอัตราการเสียชีวิตน้อยกว่าร้อยละ 0.1
- ต้องเป็นโรคที่มีการคาดการณ์ได้