โควิด-19

แจงสาเหตุชัด ๆ เด็กเสียชีวิตหลังติดโควิดไม่ใช่ "ลองโควิด" แต่เป็นภาวะมิสซี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กรมควบคุมโรคแจงเหตุเด็ก 2 ขวบเสียชีวิตหลังติด "โควิด" ระบุไม่ใช่ลองโควิด แต่เป็นภาวะมิสซีทำให้อักเสบตามอวัยวะทั่วร่างกาย

จากกรณีเพจอยากดังเดี๋ยวจัดให้ รีเทริน์ part 3 เผยแพร่เรื่องราวของแม่ที่ต้องสูญเสียลูกชายวัย 2 ขวบหลังมีไข้สูง อาเจียน พาไปโรงพยาบาลตามสิทธิและถูกย้ายโดยไม่แจ้ง ก่อนอาการทรุดและเสียชีวิตในเวลาต่อมา แพทย์วินิจฉัยเป็น "ลองโควิด"   หรือ "Long Covid"

 

ล่าสุด นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การเสียชีวิตของเด็กชายวัย 2 ขวบไม่ใช่ลองโควิด แต่เป็นภาวะมิสซี หรือ MIS-C (multisystem inflammatory syndrome of children) มากกว่า 


นพ.โอภาส  อธิบายว่า "ลองโควิด"  กับมิสซี ต่างกัน ลองโควิดเป็นภาวะที่เกิดขึ้นหลังจากหายป่วยโควิด เป็นอาการที่หลงเหลืออยู่จะทำให้มีอาการอ่อนเพลียพบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ส่วนมิสซีเป็นภาวะอักเสบที่เกิดขึ้นทั่วร่างกาย ตามอวัยวะต่าง ๆ เช่น ไตอักเสบ เส้นเลือด สมอง และไม่ได้เกิดจากโควิดเพียงอย่างเดียว  ดังนั้น การป้องกันภาวะมิสซีคือให้เด็กรับวัคซีน ส่วนสัญญาณของมิสซีไม่สามารถบอกได้จากอาการไข้ เพราะส่วนใหญ่ไข้มักเป็นอาการพื้นฐาน แต่ต้องดูประวัติการป่วยของเด็กด้วยและภาวะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับเด็กทุกราย    ดังนั้นเด็กที่หายป่วยแล้ว ยังต้องติดตามอาการ หรือหากไม่แน่ใจก็ควรรีบปรึกษาแพทย์  

รู้จัก "ภาวะมิสซี" ในเด็กระบบร่างกายผิดปกติหลังติดเชื้อโควิด-19
จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า โรงพยาบาลรามคำแหงได้ให้ความรู้เกี่ยวกับภาวะมิสซี โดยระบุว่า หลังจากหายป่วยโควิด-19 แล้วพบว่าเด็กจำนวนไม่น้อยเกิดอาการอักเสบหลายระบบหรือในทางการแพทย์ เรียกว่า Multisystem inflammatory syndrome in children (MIS-C) MIS-C หรือ มิสซี กลุ่มอาการอักเสบหลายระบบในเด็ก เป็นภาวะหลังจากที่เด็กติดโควิด-19 แล้วเกิดอาการอักเสบในอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย จากระบบภูมิคุ้มกันที่สูงผิดปกติ อาจมีอาการคล้ายโรคคาวาซากิ เช่น มีไข้สูง ผื่น ตาแดง ปากแดง ซึ่งอาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นต้องเข้ารับการรักษาในไอซียู และอาจมีภาวะแทรกซ้อนทำให้เสียชีวิตได้
 

"ภาวะมิสซี" เกิดจากการตอบสนองภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อการติดเชื้อโควิด-19 ทำให้เกิดการอับเสบของอวัยวะหลายระบบในร่างกาย ส่วนใหญ่มักจะเกิดตามหลังการติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งเกิดได้ตั้งแต่คนไข้ระยะที่ใกล้จะหายจากป่วยโควิด-19 หรืออาจจะเกิดตามมาภายใน 2-6 สัปดาห์หลังการติดเชื้อ โดยจะส่งผลกระทบต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดเป็นหลักหรืออาจจะเกิดในหลายๆ ระบบพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นระบบผิวหนังและเยื่อบุทำให้เกิดเป็นผื่นตามมา หรือระบบทางเดินอาหารทำให้เกิดอาการ ปวดท้อง อาเจียน ท้องเสีย และอาจมีผลกระทบต่อระบบหายใจได้ แต่ค่อนข้างน้อย ซึ่งจะแยกกันกับโรคโควิด-19 ที่เป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจโดยตรง เนื่องจากภาวะมิสซี คนไข้ส่วนมากไม่ได้มาจากอาการ ไอ จามหรือ มีน้ำมูก เหมือนโรค COVID-19 แต่อาจจะมีอาการเหนื่อยได้ซึ่งเป็นผลจากหัวใจมากกว่า

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ