"โอไมครอน" BA.2 กลายพันธุ์หยุดการทำงานของแอนติบอดี ยาต้านอาจไม่ได้ผล
"โอไมครอน" BA.2 ดร.อนันต์เผยมีการกลายพันธุ์โปรตีนหนามสไปค์ บางตำแหน่งคาดสามารถหยุดการทำงานของแอนติบอดี ยาต้านที่เคยเป็นความหวังอาจใช้ไม่ได้
ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้โพสต์เฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana ถึงการกลายพันธุ์ของ "โอไมครอน" BA.2 หรือ "โอมิครอน" ซึ่งเปลี่ยนไปจากสายพันธุ์ดั่งเดิม โดยระบุว่า
แอนติบอดีที่สามารถจับโปรตีนหนามสไปค์ได้ดีมากๆหลายตัวได้ถูกแยกออกมา และ ผลิตออกมาเป็นแอนติบอดีรักษาหลายตัวแล้ว เป็นเหมือนยาต้านไวรัสที่มีประสิทธิภาพสูงมาก ตอนช่วงก่อนโอมิครอนมีของหลายยี่ห้อใช้ได้มีประสิทธิภาพสูงพอๆกัน แต่โอมิครอนทำให้แอนติบอดีรักษาหลายชนิดใช้งานไม่ได้เพราะตำแหน่งที่แอนติบอดีเข้าทำงานถูกกลายพันธุ์ไปในโอมิครอน ปัจจุบันยังมีแอนติบอดีเพียงแค่ไม่กี่ชนิดที่ยังจับและยับยั้งโอมิครอนได้อยู่ แม้จะมีประสิทธิภาพลดลงเมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่น เช่น ยาโซโตรวิแมบ ซึ่งได้ทดสอบว่าเป็นความหวังของการรักษาไวรัสโอมิครอนได้..
นับว่าเป็นข่าวดี
แต่ข่าวที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่คือ ไวรัส "โอไมครอน" สายพันธุ์ BA.2 ที่มีการเปลี่ยนแปลงแตกต่างจาก BA.1 ไปบางตำแหน่ง ดูเหมือนจะไปหยุดการทำงานของแอนติบอดีตัวนี้ได้ ผลการทดสอบที่เพิ่งเปิดเผยออกมาคือ ค่าที่ยาสามารถยับยั้งไวรัสเข้าสู่เซลล์ได้ 50% (IC50) จากที่ใช้จำนวน 2072 ng/ml ในสายพันธุ์โอมิครอน BA.1 แต่ค่านั้นสูงเกินวัดได้เมื่อทดสอบกับ BA.2 ซึ่งอาจจะบอกว่าแอนติบอดีตัวนี้อาจใช้ต้าน BA.2 ไม่ได้ รวมถึง Evushield ซึ่งเป็นอีกสูตรของแอนติบอดีด้วย อาจจำเป็นต้องหาแอนติบอดีตัวใหม่เพิ่มเติมกับการรับมือกับ BA.2 ครับ