โควิด-19

โอไมครอน" พุ่งไม่หยุด ถึงเวลาต้องตื่นตูมได้หรือยัง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หมอขวัญชัย แนะ "โอไมครอน" ขาขึ้น ต้องมีสติ อย่าแตกตื่นมากไป ไทยระบาดต่ำมากเมื่อเทียบประเทศอื่น แต่อย่าประมาท คาดจะอยู่ขาขึ้นต่อไปจนถึงจุดสูงสุดในอีกประมาณ 2-3 สัปดาห์ก่อนดิ่งลง

ศ.นพ.ขวัญชัย ศุภรัตน์ภิญโญ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Khuanchai Supparatpinyo ระบุว่า ระยะนี้การระบาดของโควิดจาก "โอไมครอน" ในประเทศไทยเข้าสู่ขาขึ้นอย่างชัดเจน จนอาจจะทำให้หลายๆคนเกิดความไม่สบายใจ ถ้าดูจากรูปที่ 1 จะเห็นว่าที่จริงขาขึ้นของ "โอไมครอน" ในประเทศไทยเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงเทศกาลปีใหม่เป็นต้นมา

โอไมครอน" พุ่งไม่หยุด ถึงเวลาต้องตื่นตูมได้หรือยัง



จนถึงขณะนี้ถือว่ามีการระบาดได้ราว 5 สัปดาห์กว่าๆแล้ว แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าลักษณะการระบาดในไทยอาจจะมีความแตกต่างจากเกือบทุกประเทศทั่วโลกที่มักจะมีขาขึ้นที่สูงชันมากและขึ้นไปแบบ non-stop โดยใช้เวลาประมาณ 2 เดือนก็ขึ้นถึงจุดสูงสุด แล้วค่อยๆลดลงในที่สุด (ตามรูปที่ 2)

 

โอไมครอน" พุ่งไม่หยุด ถึงเวลาต้องตื่นตูมได้หรือยัง

แต่ของเรากลับขึ้นเร็วในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ แล้วค่อนข้างทรงตัวในช่วงต้นเดือนมกราคม แต่ทรงอยู่ได้เพียง 2 สัปดาห์ก็เริ่มเข้าสู่ขาขึ้นอย่างรวดเร็วอีกครั้งในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์จนถึงวันนี้

 


คำถามคือขาขึ้นขนาดนี้เราควรตื่นตูมหรือยัง ? หรือควรแตกตื่นมากแค่ไหน ?

ก่อนอื่นต้องตั้งสติให้ดีและทบทวนข้อมูลให้ชัดเจนว่าสถานการณ์ตอนนี้เป็นอย่างไร อย่าใช้อารมณ์และความเห็นส่วนตัวเป็นหลัก ถ้ามีเวลาอยากให้ย้อนกลับไปอ่านบทความวันที่ 16 มกราคม ตอน "โอไมครอน" ระบาดเหมือนกัน แต่ทำไมผลลัพธ์แตกต่างกัน ? ที่แสดงข้อมูลว่าหลายประเทศมีรูปแบบและผลลัพธ์ของการระบาดที่แตกต่างกัน บางประเทศมีอัตราการระบาดที่สูงมาก บางประเทศมีอัตราการระบาดค่อนข้างต่ำ บางประเทศมีอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูง ในขณะที่บางประเทศมีอัตราการเสียชีวิตต่ำ



ที่จริงแล้ว ถ้าเราดูกราฟการระบาดของประเทศอื่นๆ เทียบกับประเทศไทยในรูปที่ 2 จะเห็นได้ชัดว่าการระบาดของประเทศไทยแทบจะมองไม่เห็นเป็นกราฟการระบาด (epidemic curve) เอาเสียเลย ในขณะที่มีผู้เชี่ยวชาญหลายท่าน ออกมาแสดงความคิดเห็น และเป็นห่วงเป็นใยว่า ขณะนี้เราอยู่ในขาขึ้นที่น่ากลัวมากนั้น ข้อมูลจริงๆจะเห็นว่าต่ำกว่าจุดสูงสุดของการระบาดในประเทศอื่นๆแบบไม่เห็นฝุ่นเลย

 

โอไมครอน" พุ่งไม่หยุด ถึงเวลาต้องตื่นตูมได้หรือยัง

แต่เอาเถอะ เพื่อความไม่ประมาทเรามาดูภาคขยายของการระบาดในไทยตามรูปที่ 1 กันต่อ ปรากฏการณ์ที่ขาขึ้นของเราเป็น 2 ขยักนี้ที่จริงก็พอจะอธิบายได้จากกระบวนการควบคุมโรคระบาดในประเทศไทย ซึ่งมีการปล่อยผีอย่างเต็มที่ในช่วงเทศกาลปีใหม่ แต่ในช่วงหลังเทศกาลปีใหม่มีการเพิ่มมาตรการควบคุมโรคอย่างเข้มข้น เช่น ออกคำสั่งให้พนักงานทั้งภาครัฐและเอกชนตรวจ ATK ทุกคนอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ปิดกิจการที่พบว่าเป็นแหล่งแพร่เชื้อในช่วงเทศกาลปีใหม่ ปิดโรงเรียน ฯลฯ ทำให้พอจะควบคุมการระบาดได้บ้าง

แต่เมื่อเริ่มผ่อนคลายมาตรการในช่วงปลายเดือนมกราคม เชื้อ "โอไมครอน" ที่ขณะนี้น่าจะกระจายอยู่ในชุมชนมากพอสมควรแล้วก็ได้โอกาสแสดงศักยภาพในการแพร่เชื้ออย่างรวดเร็วออกมาทันที เราจึงเข้าสู่ช่วงขาขึ้นต่อไป ซึ่งเชื่อว่าทุกคนในประเทศนี้ไม่มีใครไม่ยอมรับว่ายังไงก็ต้องมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นแน่ๆ แต่ถ้าดูตามสถิติก็คาดว่าน่าจะเป็นขาขึ้นต่อไปจนถึงจุดสูงสุดในอีกประมาณ 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า หลังจากนั้นก็จะน่าจะเข้าสู่ขาลงเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆทั่วโลก


อย่างไรก็ตาม ตามที่เคยบอกเสมอว่าอย่าดูแต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันเพียงอย่างเดียว ต้องดูต่อว่าระดับการติดเชื้อรายวันประมาณ 1 หมื่นกว่าราย ซึ่งยังถือว่าต่ำกว่าช่วงที่เดลตาระบาดราว 2 เท่า มีจำนวนผู้ป่วยหนัก ผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ผู้เสียชีวิต และอัตราการป่วยตายเป็นอย่างไร แต่ก่อนอื่นอย่าคาดหวังว่าค่าเหล่านี้จะเป็นศูนย์ หรือต่ำกว่าไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลเป็นอันขาด ต้องยอมรับความจริงว่าเป็นไปได้ยากหรืออาจเป็นไปไม่ได้ด้วยซ้ำไป เพราะโควิด-19 เป็นโรคใหม่อายุแค่ 2 ปีเศษ คนบนโลกเพิ่งจะเริ่มมีภูมิคุ้มกันต่อโรคได้ไม่ถึงปี จะเทียบกับโรคที่อยู่คู่กับโลกมาหลายศตวรรษแล้วคงไม่ได้ แต่อย่างน้อยให้เทียบกับช่วงที่เดลตาระบาด

ซึ่งข้อมูลในกราฟยืนยันชัดเจนว่าแม้จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันจะเป็นขาขึ้น แต่จำนวนผู้ป่วยหนักกลับต่ำกว่าช่วงขาขึ้นของเดลต้าประมาณ 10 เท่า จำนวนผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจต่ำกว่า 2.5 เท่า จำนวนผู้เสียชีวิตรายวันต่ำกว่า 13 เท่า และอัตราการป่วยตายต่ำกว่า 10 เท่า การติดตามตัวชี้วัดทั้งหมดเหล่านี้เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง ถ้าเมื่อไรมีแนวโน้มที่ส่อว่าจะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นก็สมควรตื่นตูมได้เลย

สุดท้ายก็ตามเคยที่ยังต้องย้ำเสมอว่าคนไทยต้องร่วมมือร่วมใจกันไปฉีดวัคซีนให้มากและเร็วที่สุด รวมทั้งเคร่งครัดในมาตรการการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาลต่อไป จนกว่าเราจะสามารถควบคุมสถานการณ์การระบาดได้อย่างแท้จริง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ