แบกไม่ไหวรัฐต้องยกเลิก ucep covid ปชช.เตรียมใจต้องรักษา "โควิด19" ตามสิทธิ
รัฐแบกรับภาระค่ารักษา "โควิด19" ไม่ไหวจำเป็นต้องยกเลิก ucep covid ประชาชนเตรียมใจรักษาโควิดต้องให้สิทธิพื้นฐาน บัตรทอง-ประกันสังคม-ข้าราชการ
ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) กล่าวถึงสถานการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อ "โควิด19" ว่า สถานการณ์การระบาดขณะนี้อยู่ในสิ่งที่เราได้คาดการณ์ ตามข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข โดยวันนี้ตัวเลขอยู่ที่ 15,000 ราย และคาดว่าในช่วงปลายเดือน ก.พ. นี้ คาดการณ์ว่าจะขึ้นไปถึง 17,000 - 18,000 ราย ซึ่งหวังว่าจะไม่ถึง 20,000 ราย ในสิ้นเดือน แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับประชาชนทุกคนที่ต้องช่วยกัน เข้าใจว่าที่ผ่านมาทุกคนอึดอัดมานานกว่า 2 ปีตั้งแต่ช่วงของการเกิดการระบาดของ "โควิด19" และอยากผ่อนคลาย
อย่างไรก็ตามขณะนี้ผู้ที่เจ็บป่วยรุนแรงน้อยลง ถ้าเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยมีผู้ป่วยหนักลดลงถึง 10 เท่า ซึ่งถือเป็นข้อดีที่อาจจะรับมือสถานการณ์ได้ แต่แม้จะไม่รุนแรง ขอให้ประชาชนเร่งฉีดวัคซีนเข็ม 3 ขณะนี้วัคซีนมีจำนวนมาก แต่มีผู้ไปฉีดน้อย ซึ่งวัคซีนเข็ม 3 มีข้อมูลชัดเจนว่าช่วยป้องกันได้ อย่างไรก็ตาม ไม่อยากให้ประชาชนตระหนกที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และต้องบอกว่าตัวเลขจะเพิ่มขึ้นอีก แต่ไม่อยากให้สูงถึง 20,000 ราย เพราะสัดส่วนตัวเลขผู้ป่วยหนักจะสูงขึ้น ยืนยันถ้าผู้ติดเชื้อไม่สูงเกิน 20,000 ราย สู้ไหวแบบสบาย ๆ กำลังด้านสาธารณสุขมีเพียงพอทุกอย่าง ระบบได้ทำไว้ดีหมดแล้ว
ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายตั้งคำถามว่าทำไมไทยจะต้องยกเลิกโรค "โควิด19" ออกจากบริการ UCEP (ยูเซ็ป) หรือการให้บริการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่ แล้วให้ไปใช้สิทธิตามหลักประกันสุขภาพของแต่ละบุคคลทั้งบัตรทอง ประกันสังคม หรือสวัสดิการข้าราชการ ที่จะเริ่มในวันที่ 1 มีนาคมนี้นั้น ต้องชี้แจงว่า หลายประเทศ เช่นสวีเดน รัฐบาลสวีเดนก็ยกเลิกกฎควบคุมการแพร่ระบาดของโรค "โควิด19" เกือบทั้งหมดเมื่อวันที่ 10 ก.พ. 65 ที่ผ่านมา เนื่องจากไม่มีงบประมาณเพียงพอในการดูแลผู้ป่วย "โควิด19" ทั้งที่เป็นประเทศที่ร่ำรวยกว่าไทย ส่วนตัวจึงเห็นว่า ควรช่วยกันฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อให้เดินหน้าต่อไปได้ และตอนนี้ต้องทำใจเพื่อเปลี่ยนผ่าน เพื่อให้เป็นโรคประจำถิ่นให้ได้
ทั้งนี้จะต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเกิดความเข้าใจ แต่ยืนยันรัฐบาลจะไม่ได้มีการประกาศยกเลิกโรคโควิด-19 ออกจากบริการยูเซ็ปในทันที แต่จะให้ประชาชนมีเวลาเตรียมตัว 1-2 เดือน ปัจจัยสำคัญอยู่ที่ประชาชนไม่ใช่สาธารณสุข เพราะระบบสาธารณสุขไม่ได้มีปัญหาแต่ต้องปรับตามบริบท เพราะจะเห็นได้ชัดว่าสายพันธุ์โอมิครอนไม่ทำให้มีผู้ป่วยหนัก พร้อมย้ำว่ารัฐบาลไม่มีงบประมาณในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ฟรีแล้ว
ด้าน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (ศบค.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธาน เห็นชอบคงระดับพื้นที่สีจังหวัด เพื่อที่จะบังคับใช้มาตรการต่าง ๆ คุมโควิด ตามเดิม สถานการณ์ "โควิด19" ทั่วโลกกำลังเป็นขาลง แต่ยังติดวันละเป็นล้านคน ขณะที่การเสียชีวิตไม่ได้เยอะขึ้น ส่วนประเทศไทยติดเชื้อใหม่ 15,242 ราย
ส่วนการปรับพื้นที่ควบคุมนั้น ขณะนี้ คงระดับสีของจังหวัดต่างในประเทศไทยคงเดิมไว้ก่อน และขอประชาชนช่วยกันควบคุมโรค ใช้ชีวิตส่วนตัวให้ลดการติดเชื้อลงไปมากที่สุด แต่ยังคงบรรยากาศการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่กัน ถ้าเพิ่มขึ้นหลักหมื่นและเป็นหลายหมื่นราย บรรยากาศการท่องเที่ยวจะเปลี่ยนแปลงไป
สำหรับระดับสีของจังหวัดต่าง ๆ ยังคงเป็น พื้นที่ควบคุม หรือ สีส้ม 44 จังหวัด พื้นที่เฝ้าระวังสูง หรือ สีเหลือง 25 จังหวัด และพื้นที่สีฟ้า หรือ นำร่องท่องเที่ยว 8 จังหวัดตามเดิม