โควิด-19

"โอไมครอน" นำหน้ามนุษย์หลายขุม ไม่ได้อยู่แค่ลำคอ แต่อาจกระจายทั่วร่างกาย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ชี้ ยังไม่ควรประมาท "โอไมครอน" เพราะแท้จริงนอกจากจะอยู่ที่จมูกลำคอส่วนต้นแล้ว ไวรัสอาจจะไปทั่วทุกแห่งด้วย

วันนี้ 10 ก.พ.65 ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha ระบุหัวข้อ ความยืดหยุ่นการปรับตัวของไวรัสโควิด-19 "โอไมครอน" โดยใจความทั้งหมดมีดังนี้

 

"โอไมครอน" จัดเป็นไวรัสที่เจ้าเล่ห์ และเท่ขนาดมีกระบวนการหลอกลวงและพัฒนาตัวเองอย่างร้ายกาจ นำหน้ามนุษย์ทั้งโลกไปหลายขุม

 

มนุษย์ในโลกคงจำได้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 การระบาดที่ประเทศจีน ที่อู่ฮั่น ในระยะแรกอาการที่เกิดขึ้นนั้นดูน้อยนิด และตอนที่เข้าประเทศไทยในระยะแรก มีการขนานนามว่าเป็น “ไวรัส กระจอก” แต่ในที่สุดเมื่อตายใจก็แสดงตัวตนให้เห็นเกิดการระบาดเสียชีวิต แต่โชคดีเป็นในระยะไม่นานนักในประเทศไทย

 

 

แต่แล้วแทนที่จะจบกลับมีการพัฒนาหลีกหนีภูมิที่ได้จากการติดเชื้อครั้งเก่า เช่น ในเขตมาเนาส์ อเมซอน ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 ติดเชื้อเสียชีวิตมากมายและโรคสงบ โดยพบว่ามีภูมิคุ้มกันหมู่อย่างน้อย 66% แต่ถัดมาอีกประมาณสี่เดือนครึ่งมีการระบาดใหม่ด้วยไวรัสสายเปรูและเข้าโรงพยาบาลและเสียชีวิต

เช่นเดียวกัน ทั่วโลกระลอกแรกของสายจีนมีเวลาพักผ่อนสี่ถึงห้าเดือน ตามด้วยชุดที่สองและสาม ได้แก่ สายอังกฤษและสายเดลตา ในขณะที่แถบแอฟริกาใต้เป็นสายแอฟริกาใต้เองและเดลตา

 

ทั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นปรับตัว เพื่อให้คงสถานะในการที่จะสามารถแพร่กระจายต่อและหลบหลีกภูมิที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติจากการติดเชื้อหรือที่เกิดจากการได้รับวัคซีน

 

ซึ่งวัคซีนประดามีทั้งหลายต่างออกแบบตามไวรัสต้นแบบในระยะแรกทั้งสิ้น โดยมีความต่างกันในเรื่องของเทคโนโลยีการผลิตและชิ้นส่วนรายละเอียดที่จะมาเป็นวัคซีนอยู่บ้าง

 

สายต่างๆของไวรัสดูเหมือนจะพัฒนาตามกันจากระลอกแรกจนถึงเดลตา แต่เมื่อมาถึง "โอไมครอน" มีการเปลี่ยนแปลงรหัสพันธุกรรมมากมายมหาศาล และจากการวิเคราะห์ของคณะนักวิทยาศาสตร์จีนที่รายงานในวารสาร journal of genetics and genomics น่าจะเกิดขึ้นจากการนำพาไวรัสต้นแบบอู่ฮั่นไปตั้งตัวในหนู

 

ซึ่งการตั้งตัวดังกล่าวนั้น ต้องมีวิวัฒนาการควบคู่กันไปของตัวสัตว์และไวรัสจนกระทั่งได้รหัสพันธุกรรมที่เป็นลายเซ็นของ "โอไมครอน" และกระบวนการนี้เรียกว่าเป็นกระบวนการย้อนกลับจากคนสู่สัตว์ (reverse zoonosis) เมื่อได้เป็นสายใหม่ก็ย้อนกลับเข้าสู่คนใหม่ ทั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความสามารถที่จะแปลงร่างเข้าไปในสัตว์อื่นใหม่ก่อนที่จะเปลี่ยนโฉมมาเข้าคน

 

ทั้งนี้ ไม่น่าแปลกใจในเรื่องของความยืดหยุ่นดังกล่าว แม้ในขณะที่โควิดอยู่ในร่างกายมนุษย์ รหัสพันธุกรรมไม่ได้อยู่นิ่ง

ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์จุฬา ได้ติดตามรหัสพันธุกรรมทั้งตัวของไวรัสในผู้ป่วยห้าราย อัลฟา และเดลตา ที่เข้าโรงพยาบาลโดยมีปอดบวม และได้รับการรักษาด้วยฟาวิพิราเวียร์ เป็นเวลาห้าวัน อาการปอดบวมไม่ดีขึ้น ต้องให้ออกซิเจนเป็นไฮโฟล รวมทั้งปริมาณไวรัสสูงขึ้นมากจากเดิม

 

รหัสพันธุกรรมเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในบางตำแหน่ง ขณะอาการเลวลงเมื่อเทียบจากการวิเคราะห์วันแรกที่เข้าโรงพยาบาลและเมื่อติดตามจนกระทั่งดีขึ้นเมื่อเปลี่ยนการรักษา รหัสก็ยังปรับเปลี่ยนไปอีก ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ในยีนส์ N S ORF1a ORF1b ORF7a เป็นต้น

 

ความยืดหยุ่นในตัวไวรัสเมื่อมีการระบาดมากขึ้นเรื่อยๆ อาจจะอธิบายผลที่เกิดขึ้นเมื่อมีการติดเชื้อในคนแต่ละคน รวมทั้งไวรัสเองอาจจะหาช่องทางต่างๆที่เหมาะสมในการตั้งตัวเพื่อเป็นวาเรียนท์ (variant) ใหม่สำหรับตัวเอง

 

และในที่สุดก็เป็นเรื่องที่ถกเถียงในระดับนานาชาติเกี่ยวกับไวรัสที่ตั้งชื่อเล่นว่า "เดลตาครอน" ความเห็นต่างๆเกี่ยวกับเดลตาครอนของต่างประเทศ จนถึงวันที่ 12 มกราคม 2565 นั้น นักวิทยาศาสตร์จากไซปรัสยังคงยืนยันเกี่ยวกับ เดลตาครอน ทั้งนี้ อาจจะไม่ได้เป็นการควบรวมเดลตาและ "โอไมครอน" โดยตรง (recombination ที่ทำให้เกิดไฮบริด)

 

 

เป็นจากแรงกดดันที่ทำให้ไวรัสเกิดมีการผันแปรรหัสพันธุกรรมในตำแหน่งแบบเดียวกับโอมิครอนในเดลตา ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์บางท่านจากอังกฤษและสหรัฐฯไม่เห็นด้วยและคิดว่าเป็นการปนเปื้อนในห้องปฏิบัติการ

 

ข่าวจาก France 24 ในช่วงเวลาเดียวกัน Christian Bréchot, head of the Global Virus Network and a former director of the Institut Pasteur กล่าวว่า ยังคงเชื่อในคุณภาพของทีมงานไซปรัส และโอกาสที่จะเกิดเดลตาครอนนั้นมีความเป็นไปได้สูง (perfectly possible) เช่นเดียวกับ ความเห็นของนักไวรัสวิทยา Christine Rouzioux, pro fessor emeritus at Paris-Descartes University ว่า ยังมีความเป็นไปได้แต่ต้องทำการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์

 

 

โดยทั้งนี้ อาจจะเกิด hybrid วาเรียนท์ใหม่อื่นๆได้อยู่แล้ว ตราบใดที่ยังมีโควิดแพร่กระจายอยู่ในโลก และการระดมฉีดวัคซีนกระตุ้นไปเรื่อยๆไม่ใช่เป็นหนทางที่จะจบการระบาดของโควิด (แต่ไม่มีรายละเอียดว่ามีวิธีใดที่จะจบโควิดได้)

 

ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ "เดลตาครอน" นั้น ยังอาจมีความเป็นไปได้ว่ามีการติดเชื้อสองตัวคือ เดลตา และ "โอไมครอน" ในมนุษย์คนเดียวกัน โดยไม่ได้ควบรวมเป็นร่างเดียว หรือไฮบริด แต่จะอย่างไรก็ตาม ความยืดหยุ่นปรับตัวดังกล่าวยังเป็นที่วิตกว่า โควิดจะรวบความสามารถหรือลักษณะเด่นต่างๆเข้ามาเป็นตัวใหม่ ดังที่จะเห็นได้ว่าโอมิครอนเองนั้นก็มีความสามารถในการแพร่กระจายทางอากาศได้สูงมาก และเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ติดง่าย

 

 

อีกรายงานที่สำคัญมากจากคณะศึกษาจาก NIH สหรัฐฯ เป็นการตรวจศพผู้ป่วย 44 ราย ที่เสียชีวิตหลังจากติดเชื้อโควิดนานจนกระทั่งถึง 7 เดือน และพบว่าประการที่หนึ่งพบมีไวรัสในทุกอวัยวะรวมทั้งหัวใจ สมอง และอวัยวะภายใน และสามารถเพาะเชื้อขึ้น แสดงว่าไวรัสไม่ได้เป็นซาก ประการที่สองข้อสำคัญคือสะท้อนว่า ควรจะมีไวรัสแพร่ในกระแสเลือดก่อนและไปซ่อนตัวอยู่อวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย แม้อาการเริ่มต้นจะน้อยมากก็ตาม

 

 

ประการที่สามไวรัสสามารถเข้าเซลล์ได้ แม้ว่าอวัยวะหลายตำแหน่งจะไม่มี receptor ตัวรับที่เรารู้จักก็ตาม และอาจเป็นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้เกิด long covid

 

ข้อมูลของ "โอไมครอน" คงต้องพิจารณาว่าแท้จริงนอกจากจะอยู่ที่จมูกลำคอส่วนต้นแล้ว ไวรัสอาจจะไปทั่วทุกแห่งด้วย และในที่สุดจะกระทบทำให้เกิดผลระยะกลางและระยะยาวที่เรียกว่า long COVID หรือไม่ ดังที่โควิดรุ่นก่อนหน้าทำให้เกิดผลกระทบระยะยาวและเป็นปัญหาทั่วทุกประเทศในโลกนี้แล้ว ที่ต้องรักษาต่อ โดยเฉพาะทางสมองที่เกิดเป็นสมองเสื่อมในรูปแบบต่างๆ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ