โควิด-19

"โอไมครอน" แม้ป่วยไม่หนัก แต่เจออาการหลังป่วย ที่น่ากังวล กระทบการใช้ชีวิต

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"โอไมครอน" ดันยอดพุ่ง รพ.กทม.-หัวเมือง ส่งสัญญาณ ผู้ป่วยเพิ่มขึ้น "หมอนิธิพัฒน์" เตือน แม้ป่วยไม่หนัก แต่เจออาการ Long COVID หลังป่วยแบบนี้ ทำกระทบการใช้ชีวิตประจำวัน

ยังคงต้องติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์ "โอไมครอน" หรือ "โอมิครอน" ที่ล่าสุดดันตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งถึง 14,822 ราย และ ATK อีกกว่า 7 พันราย ด้วยคุณสมบัติการแพร่เชื้อที่รวดเร็วขึ้น

 

 

"หมอนิธิพัฒน์" รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก นิธิพัฒน์ เจียรกุล ระบุว่า เมื่อวานไม่น่าทักเขาเลย วันนี้ ยอดพุ่งทะยาน หลังหยุดพักดูลาดเลาหนึ่งวัน ไปแตะที่เกือบสองหมื่นแล้ว โดยในบรรดา 77 จังหวัดทั้งหมดทั่วประเทศ มีเพียง 18 จังหวัดที่ยอดวันนี้เป็นตัวเขียว คือลดลงจากวันก่อน ส่วนที่เหลือติดตัวแดงกันถ้วนหน้า 

 

 

 

ทั้งนี้ กทม. สมุทรปราการ นนทบุรี และปทุมธานี รวมกัน 4 จังหวัด มียอดคิดเป็น 36% ของทั้งประเทศ เริ่มมีการส่งสัญญาณมาจากหลายโรงพยาบาลใหญ่ใน กทม.และหัวเมืองใหญ่ ว่ามีผู้ป่วยโควิด รับไว้ในโรงพยาบาลเพิ่มมากขึ้นในช่วงสองสัปดาห์นี้ จนศักยภาพขั้นต้นในการรองรับเริ่มจะใกล้หมดแล้ว แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่รับเข้ามาไว้ในโรงพยาบาลนั้น อาการที่รุนแรงไม่ได้เกิดจากโควิดโดยตรง แต่เป็นผลจากโรคเรื้อรังเดิมที่เปราะบางอยู่ก่อน โดยมักเป็นในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนไม่ครบ หรือไม่ได้รับ มีบ้างที่ได้รับวัคซีนครบ แต่ภูมิคงขึ้นไม่ดี เพราะโรคพื้นฐานที่มีอยู่เดิม 

 

 

 

"โอไมครอน" แม้ป่วยไม่หนัก แต่เจออาการหลังป่วย ที่น่ากังวล กระทบการใช้ชีวิต

"หมอนิธิพัฒน์" ระบุว่า มีเสียงถามเข้ามากันมากหลายว่า ประเทศไทยใกล้จะให้โควิดเป็น "โรคประจำถิ่น" หรือยัง ถ้าเห็นแนวโน้มการใช้เตียงในโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยโควิดเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเช่นนี้ น่าจะยังไม่ใช่เวลาอันเร็ววันนี้

 

 

 

อย่างไรก็ตาม คงต้องเตรียมการกันไว้แต่เนิ่น ๆ โดยทุกภาคส่วนจะต้องมีฉันทามติในการตัดสินใจครั้งสำคัญนี้ ว่านิยามของ "โรคประจำถิ่น" ที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย ควรเป็นอย่างไร ตัวเลขที่สำคัญ เช่น ยอดผู้ติดเชื้อรายวัน ยอดผู้ป่วยที่ต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาลหลัก ยอดผู้ป่วยอาการรุนแรง และยอดผู้ป่วยที่เสียชีวิต จะต้องถูกกำหนดให้ชัดเจน และร่วมกันติดตาม ภาคนโยบายต้องมั่นใจว่า ควบคุมสถานการณ์ในทุกด้านได้ดีแล้ว ภาคประชาชนต้องมั่นใจที่จะให้ความร่วมมือ ท้ายสุดภาคการแพทย์ต้องมั่นใจว่าจัดเตรียมศักยภาพไว้เพียงพอ โดยไม่เบียดบังการดูแลรักษาผู้ป่วยอื่นที่ไม่ใช่โควิด แม้คนที่ป่วยด้วยโควิดจาก "โอไมครอน" ส่วนใหญ่จะเป็นแบบไม่มีอาการ หรืออาการไม่รุนแรง แต่จะมีบางส่วนของคนกลุ่มนี้ ที่เมื่อหายแล้วยังไม่สามารถมีกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ เนื่องจากรู้สึกเหนื่อยง่ายขึ้นกว่าเดิมก่อนป่วย ได้มีการศึกษาในคนอเมริกันจำนวน 10 คน ที่มีคุณสมบัติดังกล่าว 

 

 

 

"โอไมครอน" แม้ป่วยไม่หนัก แต่เจออาการหลังป่วย ที่น่ากังวล กระทบการใช้ชีวิต

จากผลการศึกษา โดยการติดตามการทำงานของปอดและหัวใจ ขณะออกกำลังด้วยการขี่จักรยานอยู่กับที่ (cycle ergometer cardiopulmonary exercise testing) พบว่า มีการลดลงอย่างมากของสมรรถภาพการออกกำลังกาย เป็นผลจากเนื้อเยื่อทั่วร่างกาย โดยเฉพาะกล้ามเนื้อ ไม่สามารถดึงออกซิเจนไปใช้งานได้ดีเพียงพอ โดยที่การทำงานของหัวใจยังเป็นปกติ แต่การทำงานของปอดยังมีความบกพร่อง อันเป็นผลจากการออกแรงหายใจมากเกินควร (exaggerated hyperventilatory response) ทั้งที่ขณะป่วยส่วนใหญ่ไม่เกิดปอดอักเสบโควิดชัดเจน เห็นอย่างนี้แล้วอย่าปล่อยให้ตัวเองและคนที่เรารักติดโควิด ด้วยการระมัดระวังตัวเต็มที่ตามมาตรการควบคุมโรค โดยเฉพาะการหมั่นใส่หน้ากากเมื่อออกนอกบ้าน ควบคู่ไปกับเข้ารับการฉีดวัคซีนให้ครบตามกำหนด

 

 

 


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ