โควิด-19

"โอไมครอน" กับ 11 ปัจจัย คาด ดันตัวเลขติดเชื้อ 50,000 ตายไม่เกิน 50 ราย/วัน

"โอไมครอน" ไม่วางใจยอดผู้ติดเชื้อ แต่เบาใจยอดตายได้ "หมอเฉลิมชัย" คาด 11 ปัจจัย ดันติดเชื้อสูงสุดไม่เกิน 50,000 ยอดตายไม่เกิน 50 ราย/วัน

อัปเดตสถานการณ์โควิด-19 สายพันธุ์ "โอไมครอน" ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อวันนี้ พุ่งหลักหมื่นเป็นครั้งแรก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นมา

 

 

ล่าสุด "หมอเฉลิมชัย" นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ค Chalermchai Boonyaleepun ระบุว่า วางใจจำนวนผู้ติดโควิดยังไม่ได้ แต่อาจจะพอเบาใจเรื่องจำนวนผู้เสียชีวิตได้ คาดติดเชื้อสูงสุดไม่น่าจะเกิน 50,000 รายต่อวัน เสียชีวิตไม่น่าจะเกิน 50 รายต่อวัน ทำไมถึงกล่าวเช่นนั้น คงต้องแยกสถานการณ์โควิดออกเป็น 2 ประเด็น คือเรื่องจำนวนผู้ติดเชื้อ และจำนวนผู้ป่วยหนัก/เสียชีวิต โดยเราทราบจากการเก็บข้อมูลสถิติต่าง ๆ ทั่วโลก ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา ซึ่งมีไวรัส "โอไมครอน" หรือ "โอมิครอน" เป็นสายพันธุ์หลักว่า

 

1. โอมิครอนมีความสามารถในการแพร่ระบาดเร็ว และง่ายกว่าเดลตา 4 เท่า จึงเห็นจำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ในเกือบทุกประเทศทั่วโลก
2. โอมิครอนมีความรุนแรงในการก่อโรค และทำให้เสียชีวิตน้อยกว่าเดลตา 3.5 เท่า จึงพบจำนวนผู้ป่วยหนัก หรือเสียชีวิตทั่วโลกในระลอกนี้น้อยกว่าในระลอกเดลตาที่ผ่านมา 
3. เมื่อพิจารณาในระดับโลกจะพบว่า การติดเชื้อระลอกนี้ มีจำนวนที่สูงกว่าในระลอกของเดลตาชัดเจน เช่น

 

  • สหรัฐอเมริกา ติดเชื้อเฉลี่ย 800,000 รายต่อวัน ถ้าปรับจำนวนประชากรเทียบกับประเทศไทยแล้ว ไทยจะติด 1.7 แสนรายต่อวัน
  • อังกฤษ ติดเชื้อเฉลี่ยวันละ 100,000 ราย ปรับประชากรเทียบกับไทยแล้ว ไทยจะติด 1 แสนรายต่อวัน
  • ญี่ปุ่น ติดเชื้อเฉลี่ยวันละ 100,000 ราย ปรับประชากรเทียบกับไทยแล้ว ไทยจะติดเชื้อ 50,000 รายต่อวัน

4. สำหรับประเทศไทย จึงมีโอกาสที่จะพบผู้ติดเชื้อตั้งแต่ 50,000 รายถึง 170,000 รายต่อวัน แต่ตัวเลขน่าจะมาในทาง 50,000 รายของญี่ปุ่น เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทย ใส่หน้ากากใกล้เคียงกัน ส่วนอังกฤษและสหรัฐฯใส่หน้ากากน้อยกว่า ส่วนอัตราความครอบคลุมฉีดวัคซีนถือว่าไม่ต่างกันมากนัก
5. การเสียชีวิต ญี่ปุ่นมีผู้เสียชีวิต 0.1% (92 ราย จากผู้ติดเชื้อ 94,431 ราย) ส่วนไทยเสียชีวิต 0.2% (21 ราย จาก ผู้ติดเชื้อ 10,490 ราย) ส่วนในระดับโลก เสียชีวิต 0.4% ( 956 ราย จากผู้ติดเชื้อ 216,984 ราย)
6. พิจารณาสำหรับประเทศไทย อัตราผู้เสียชีวิตน้อยกว่าในระดับโลก แต่ยังสูงกว่าประเทศญี่ปุ่น 
7. โดยขณะนี้ ไทยเสียชีวิตจากโอมิครอนน้อยกว่าเดลตาประมาณ 5 เท่า

ระลอกที่ 3 ที่เกิดจากไวรัสเดลตาเป็นหลัก ไทยพบผู้ติดเชื้อสูงสุด จำนวน 23,418 ราย
(13 สค.2564)
ผู้เสียชีวิตสูงสุด จำนวน 312 ราย
(18 สค.2565)
สถานการณ์ขณะนั้น
ฉีดวัคซีน 22 ล้านโดส

  • เข็มหนึ่ง 17 ล้านโดส
  • เข็มสอง 5 ล้านโดส 
  • เข็มสาม 0.4 ล้านโดส

 

9. ระลอกที่ 4 จากไวรัสโอมิครอน เรามีอัตราการฉีดวัคซีนที่เพิ่มสูงเป็นอย่างมาก คือจำนวน 116 ล้านโดส

 

  • เข็มหนึ่ง 52 ล้านโดส
  • เข็มสอง 48 ล้านโดส
  • เข็มสาม 15 ล้านโดส


10. ดังนั้น ตัวเลขคาดการณ์ จึงจะมีตัวแปรสำคัญจากจำนวนวัคซีนที่เราฉีดเพิ่มขึ้น โดยคำนวณจากผู้ติดเชื้อสูงสุด 23,418 ราย ×4 เท่า จากความสามารถของโอมิครอน จะเป็น 93,672 ราย ส่วนผู้เสียชีวิตสูงสุด 312 ราย หารด้วย 3.5 เท่า จะเหลือ 89 ราย
11. เมื่อประมวลตัวเลขดังกล่าวข้างต้นทั้งหมด จึงพอจะสรุปได้ว่า

 

  • จำนวนผู้ติดเชื้อในระลอกที่สี่จากโอมิครอนของประเทศไทย เรายังไม่สามารถวางใจจำนวนผู้ติดเชื้อได้ ซึ่งช่วงนี้ติดวันละ 10,000 ราย เพราะเมื่อดูจากตัวเลขของวิชาการระดับโลก ของประเทศหลัก ๆ แล้ว ของเราน่าจะใกล้เคียงกับประเทศญี่ปุ่น เมื่อปรับจำนวนประชากรแล้ว คือติดเชื้อวันละไม่เกิน 50,000 ราย(ขณะนี้ญี่ปุ่นติดวันละ 100,000 ราย) และจำนวนผู้เสียชีวิต ก็คงอยู่ในระดับ 0.1% ของจำนวนผู้ติดเชื้อ ก็คือเสียชีวิตไม่น่าจะเกิน 50 ราย
  • ทั้งนี้มีตัวแปรที่สำคัญคือ วินัยของประชาชนในการใส่หน้ากาก และหลีกเลี่ยงการถอดหน้ากากเวลาอยู่ใกล้ชิดกัน และมาตรการผ่อนคลายของรัฐบาล ที่ไม่ผ่อนคลายเร็วเกินไป ก็จะทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อ และจำนวนผู้เสียชีวิต เป็นไปตามที่คาดการณ์

 

 

\"โอไมครอน\" กับ 11 ปัจจัย คาด ดันตัวเลขติดเชื้อ 50,000 ตายไม่เกิน 50 ราย/วัน

ข่าวยอดนิยม