
"โควิด-19" เข้าสู่จุดพีค "โอไมครอน" ดันติดเชื้อรายใหม่เฉียดหมื่น 2 วันติด
สถานการณ์ "โควิด-19" ในไทยเริ่มเข้าสู่ช่วงพีค "โอไมครอน" ค่อย ๆ ดันตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงขึ้นเฉียดหลักหมื่น 2 วันติด จับตาช่วงก.พ.-มี.ค. ได้เห็นตัวสูงขึ้นทั้งติดเชื้อ-เสียชีวิต
อัปเดตสถานการการณ์การระบาดของ "โควิด-19" ในประเทศไทย โดยล่าสุดพบอัตราการติดเชื้อรายใหม่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยวันนี้ (4 ก.พ. 2565)
- ผู้ติดเชื้อรายใหม่ จำนวน 9,909 ราย
- ATK 4,973 ราย
- รวม 14,882 ราย
- อัตราการตรวจพบผลบวก 12.81% (เดิม 12.62%)
- ในพื้นที่ กรุงเทพฯ 1,619 (เดิม 1,458)
- อัตราการตรวจพบผลบวก 22.9%
- นนทบุรี 495 (เดิม 324)
- อัตราการตรวจพบผลบวก 26.09%
- สำหรับวันที่ 3 ก.พ. พบติดเชื้อรายใหม่ 9,172 ราย เสียชีวิต 21 ราย
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาตัวเลขการติดเชื้อ "โควิด-19" รายใหม่ในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงสุดต่อเนื่อง และมีโอกาสที่จะพุ่งขึ้นไปถึงหลัก 10,000 ราย โดยที่ผ่านมามีการคาดการณ์เอาไว้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอไมครอนจะส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อของไทยเริ่มสู่จุดสูงสุดอีกครั้งในช่วงเดือนก.พ.-มี.ค. 65 ซึ่งมีความสอดคล้องว่าโควิดสายพันธ์โอไมครอนเป็นตัวดันผู้ติดเชื้อรายใหม่ของไทยให้ค่อย ๆ เพิ่มสูงสุดอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ได้สูงขึ้นแบบก้าวกระโดด ซึ่งอัตราการเพิ่มขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปของผู้ติดเชื้อนั้นมีความสอดคล้องกับคุณสมบัติของโอไมครอนมีเกิดการแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว แต่ไม่มีความรุนแรง บางรายติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ อาการเหมือนไข้หวัด ดังนั้นจึงส่งผลให้การตรวจหาเชื้อ หรือการเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลมีจำนวนที่ไม่มาก
สำหรับคุณสมบัติของโอไมครอนนั้น สามารถกลายพันธุ์ที่ทำให้จับกับเซลล์คนง่ายขึ้น การกลายพันธุ์ที่อาจจะลดประสิทธิภาพวัคซีนและที่ยังไม่รู้ว่าตำแหน่งการกลายพันธุ์มีผลต่อไวรัสอย่างไรบ้าง ซึ่งต้องรอการศึกษาจากไวรัสในห้องทดลอง มีข้อมูลว่า เชื้อนี้อาจจะทำให้เกิดการติดซ้ำได้ หากเคยเป็นโควิดมาก่อน แต่ยังไม่มีข้อมูลว่า เชื้อนี้ทำให้เกิดโรคที่รุนแรงกว่าเดลตา
ด้าน นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ หรือ "หมอเฉลิมชัย" รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ลงบน เฟซบุ๊กส่วนตัว Chalermchai Boonyaleepun โดยระบุว่า ต้องติดตาม วันนี้ 4 กุมภาพันธ์ 2565 โควิดติดเชื้อเพิ่มสูงสุดในระลอกนี้อีกครั้งหนึ่ง ติดเชื้อ 9,909 ราย ติดเชื้อเข้าข่าย 4973 ราย รวมทั้งสิ้น 14,882 ราย
จากสถานการณ์โควิดระลอกที่ 4 ของประเทศไทย ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2565 โดยมีไวรัสโอมิครอนเป็นสายพันธุ์หลักนั้น
ในช่วง 3 สัปดาห์แรก มีการเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน และชะลอตัวลงในสัปดาห์ที่ 4
แต่เมื่อเข้าสู่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อวานนี้ ทำสถิติติดเชื้อ 9172 ราย ติดเชื้อเข้าข่าย 4012 ราย ติดเชื้อรวม 13,184 ราย สูงสุดในระลอกนี้
มาวันนี้ 4 กด.2565 ทำลายสถิติอีกครั้ง ด้วยยอดติดเชื้อ 9909 ราย ติดเชื้อเข้าข่าย 4973 ราย รวมทั้งสิ้น 14,882 ราย
โดยมีจำนวนผู้รักษาตัวอยู่ และผู้เสียชีวิตในระดับใกล้เคียงเดิม
เป็นข้อสรุปในเบื้องต้นว่า ไวรัสโอมิครอนแพร่ระบาดได้เร็วมาก แต่อัตราการเจ็บป่วยรุนแรงน้อยกว่าเดลต้า
มาตรการผ่อนคลายต่างๆจึงควรระมัดระวังอย่างยิ่ง และประชาชนทุกคนอย่างควรจะต้องระมัดระวังวินัยในการป้องกันตนเองสำหรับสถานการณ์ในขณะนี้