หลังจากที่ องค์การอนามัยโลก ระบุว่า โควิด-19 ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ "โอไมครอน" หรือ "โอมิครอน" พบ "สายพันธุ์ย่อย BA.2" แล้วใน 57 ประเทศส่วนประเทศไทย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้ข้อมูลว่า พบผู้ติดเชื้อ "โอไมครอน" BA.2 ในไทยเริ่มเพิ่มขึ้น ข้อมูลเบื้องต้นพบว่า สามารถแพร่กระจายได้ไวกว่า BA.1 โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะมีการเฝ้าระวัง "สายพันธุ์ย่อย BA.2" ด้วยการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว เพื่อทดสอบความรุนแรง ความสามารถในการหลบภูมิคุ้มกันจากวัคซีน "คมชัดลึกออนไลน์" จะพาไปรู้จัก "โอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2" ว่าเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ชนิดนี้ อันตรายมากน้อยแค่ไหน
โดย องค์การอนามัยโลก เปิดเผยในรายงานประจำสัปดาห์ว่า สายพันธุ์ย่อย BA.2 ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ "โอไมครอน" ถูกตรวจพบแล้วใน 57 ประเทศ แต่ยังไม่พบการเปลี่ยนแปลงในแง่ความรุนแรงของโรค โดยโควิดโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1 และ BA.1.1 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยชนิดแรกที่จำแนกได้ ยังคงเป็นสายพันธุ์ที่พบมากที่สุด คิดเป็น 96% ที่โครงการริเริ่มด้านวิทยาศาสตร์โลก หรือ จีเสด GISAID ได้รับข้อมูล แต่ถึงแม้ว่า "โอไมครอน BA.2" จะพบน้อยกว่า BA.1 และ BA.11 แต่ก็พบว่า มีการเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน
นางมาเรีย ฟาน เคอร์โคฟ หนึ่งในคณะผู้เชี่ยวชาญด้านโควิดขององค์การอนามัยโลก กล่าวว่า ข้อมูลเกี่ยวกับ BA.2 ยังมีจำกัด แต่ข้อมูลเบื้องต้นบางอย่างบ่งชี้ว่า BA.2 มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับ BA.1 และแม้ว่า สายพันธุ์โอไมครอน โดยทั่วไปก่อโรครุนแรงน้อยกว่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์อื่นก่อนหน้านี้ แต่ย้ำว่า ไม่ว่าจะเป็นโควิดสายพันธุ์ใด ก็ยังคงเป็นโรคที่อันตราย และผู้คนควรพยายามหลีกเลี่ยงการติดเชื้อ
ส่วนในประเทศไทย นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อธิบายว่า ในประเทศไทยพบการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโควิด "โอไมครอน" สายพันธุ์ย่อย 2 ชนิด คือ
- โอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1 : พบการกลายพันธุ์ตำแหน่ง K417N, T478K, N501Y และ del69/70 แต่ไม่พบการกลายพันธุ์ตำแหน่ง L452R ซึ่งเป็นรูปแบบการกลายพันธุ์รูปแบบหนึ่งของสายพันธุ์โอไมครอน โดยในไทยพบโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1 รายแรกเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2564
- โอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 : ไม่พบการกลายพันธุ์บน spike โปรตีน ของตำแหน่ง 69-70 ซึ่งแตกต่างจาก BA.1 และ BA.3 ตรวจพบรายแรก ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2565 ส่วน BA.3 ยังไม่พบในประเทศไทย
ความแตกต่างของโควิดสายพันธุ์ย่อย BA.1 กับ BA.2
จากการติดตามสถานการณ์ระบาดและการกระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่า โอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 ยังไม่พบความแตกต่างจากสายพันธุ์ย่อย BA.1 ในประเด็นความสามารถในการแพร่เชื้อที่รวดเร็ว อาการรุนแรง หรือสามารถหลบภูมิคุ้มกันได้ จากการติดเชื้อหรือการได้รับวัคซีนมาก่อน แต่ถ้าสัดส่วนเปลี่ยนจากที่มี 2 % เพิ่มเป็น 5 % 10 % ในเวลาถัดมา อาจจะต้องจับตาดู แสดงว่าอาจจะแพร่เร็วกว่า
ความรุนแรงของโควิดสายพันธุ์ย่อย BA.2
เท่าที่ดูข้อมูลในประเทศไทย พบว่า มีผู้ป่วยอาการหนักจากโอไมครอน สายพันธุ์ย่อย BA.2 จำนวน 14 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 9 ราย ติดในประทศ 5 ราย ซึ่งมี 1 รายเสียชีวิต คือ ผู้ป่วยติดเตียงที่เสียชีวิตจากโอไมครอนรายแรกที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ในจำนวนที่น้อยเท่านี้จึงยังบอกไม่ได้ว่า BA.2 จะรุนแรงกว่า BA.1 หรือไม่
แต่ภาพรวมกรมการแพทย์ประเมินเบื้องต้นว่า จากการที่มีผู้เสียชีวิต 7 ราย คิดเป็นอัตราการเสียชีวิต 0.1% จากโอไมครอน ซึ่งถือว่าอัตราค่อนข้างต่ำ ขณะนี้ทางกรมการแพทย์ กำลังจัดทำรายละเอียดว่า อาการหนัก อาการปานกลาง มากน้อยแค่ไหน รวมถึงปัจจัยในการกำหนดรายละเอียดการฉีดวัคซีนอย่างไรด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง