"สมองเสื่อมถอย" เจออีกอาการใหม่หลังติดโควิด-19 โดย นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในปัจจุบัน ทำให้ผู้ป่วยบางราย ได้รับผลกระทบหลังติดเชื้อโควิด คือ "อาการสมองเสื่อมถอย" มักพบในช่วง 1-6 เดือน หลังจากติดเชื้อโควิด ซึ่งเป็นภาวะที่สมรรถภาพการทำงานของสมองถดถอย ส่วนมากในด้านสมาธิ ทักษะในการตัดสินใจ การวางแผน และความจำระยะสั้น โดยจะมีอาการรู้สึกสมองล้า (brain fog) รู้สึกตื้อ มึน ไม่สามารถจดจ่อ
อยู่กับสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ ส่งผลกระทบต่อการทำกิจวัตรประจำวัน การทำงาน หรือการเข้าสังคม ทำให้ส่งผลเสียในระยะยาวได้
ด้าน นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงเกิดจากผู้ป่วยมีโรคทางระบบประสาทและสมองอยู่เดิม เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีโรคร่วมหลายอย่าง เมื่อเกิดการติดเชื้อโควิด-19 แบบเฉียบพลันและมีอาการรุนแรง จะทำให้มีภาวะขาดออกซิเจน ส่งผลให้ผู้ป่วยมีภาวะซึมเศร้า และวิตกกังวล มีอาการทางระบบประสาทและสมองเสื่อมถอย
อย่างไรก็ดี อาการสามารถดีขึ้นเองได้เมื่อเวลาผ่านไป การดูแลตนเองอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น การรักษาสุขภาพให้แข็งแรง กินอาหารดีและมีประโยชน์ โดยเลือกรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ทำกิจกรรมที่มีส่วนช่วยในการกระตุ้นสมอง ฝึกการคิดวิเคราะห์ ฝึกสมาธิ หรืองานอดิเรกที่สร้างความผ่อนคลาย จะช่วยให้สมองและระบบประสาทฟื้นตัวและกลับมาเป็นปกติได้เร็วและดียิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม อาการที่เกิดขึ้นเข้าข่ายภาวะ Long COVID ซึ่งเป็นภาวะ หรืออาการที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยโควิด-19 หลังจากได้รับเชื้อนาน 4 สัปดาห์ไปจนถึง 12 สัปดาห์ขึ้นไป อาการที่พบมีหลากหลายและแตกต่างกัน อาการที่พบบ่อยที่สุด มีตั้งแต่ไม่รุนแรงจนถึงทำให้ร่างกายทรุดโทรม และมีผลระยะยาวตั้งแต่หลายสัปดาห์ จนถึงหลายเดือน หลังหายจากโควิด-19 โดยอาการที่พบมากที่สุด คือ
- เหนื่อยล้าอ่อนเพลีย
- ปวดศีรษะ
- สมาธิสั้น
- ผมร่วง
- หายใจลำบาก
- หายใจไม่อิ่ม
- การรับรสชาติและการรับกลิ่นเปลี่ยนไป
- เจ็บหน้าอก
- หายใจถี่
- ปวดตามข้อ
- ไอ
- ท้องร่วง
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- มีภาวะสมองล้า
- นอนไม่หลับ
- ความดันโลหิตสูง
- วิตกกังวล ซึมเศร้า หรือโรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง (Post-Traumatic Stress Disorder)
ทั้งนี้ สามารถพบอาการของ Long COVID ในผู้ป่วยนอก 35 % และผู้ป่วยใน 87% โดยอาการที่เกิดขึ้นอาจยาวนานถึง 3 เดือนขึ้นไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง