โควิด-19

"โอไมครอน" อาจเกิดเป็น 2 พีค เหตุ BA.2 แพร่เร็วขึ้น 50% เป็นสายพันธุ์หลัก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ไม่จบแค่หนึ่ง "หมอเฉลิมชัย" เผยข้อมูล "โอไมครอน" อาจเกิดเป็น 2 พีค เหตุ BA.2 แพร่เร็วขึ้น 50% จนเป็นสายพันธุ์หลัก

อัปเดตสถานการณ์โควิด สายพันธุ์ "โอไมครอน" หรือ "โอมิครอน" สายพันธุ์ย่อย BA.1 และกำลังพบการระบาดของสายพันธุ์ย่อย BA.2 ในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย

 

"หมอเฉลิมชัย" นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Chalermchai Boonyaleepun ระบุว่า โควิดระลอกใหม่นี้ อาจเกิดเป็น 2 พีค เหตุจากสายพันธุ์ย่อย BA.2 จากข้อมูลการระบาดของโควิดในช่วงที่ผ่านมา ของประเทศไทยเราเองก็อยู่ในทำนองเดียวกับของโลก คือในแต่ละระลอก หรือเวฟ มักจะมีเพียงหนึ่งพีค หรือหนึ่งจุดสูงสุด ประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน ได้แก่ 

 

  1. ระลอกที่หนึ่ง มค.-พค.2563 เป็นไวรัสสายพันธุ์อู่ฮั่น
  2. ระลอกที่สอง ธ.ค.2563-มีค.2564 เป็นไวรัสสายพันธุ์อู่ฮั่น 
  3. ระลอกที่สาม เมย.-ธ.ค.2564 เป็นไวรัสสายพันธุ์อัลฟ่าตามด้วยเดลตา
  4. ระลอกที่สี่หรือระลอกใหม่ เริ่มต้นเมื่อ 1 มค. 2565 เป็นไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน

"หมอเฉลิมชัย" ระบุว่า เนื่องจากการระบาดในอดีต แต่ละระลอก ไวรัสแต่ละสายพันธุ์นั้น แม้จะมีสายพันธุ์ย่อยอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้มีความแตกต่างกันมากนัก ผู้ติดเชื้อในแต่ละระลอก จึงมีจุดสูงสุด หรือพีคเพียงพีคเดียว เป็นส่วนใหญ่ แต่สำหรับไวรัส "โอมิครอน" พบว่าสายพันธุ์ย่อยที่สอง (BA.2) แพร่เร็วกว่าสายพันธุ์ย่อยที่หนึ่ง (BA.1) มากถึง 50% ทำให้เริ่มสังเกตเห็นลักษณะการติดเชื้อที่ประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งพบสายพันธุ์ย่อยที่สองมากขึ้น และได้แซงหน้าสายพันธุ์ย่อยที่หนึ่ง ในจังหวะที่จำนวนผู้ติดเชื้อจากสายพันธุ์ย่อยที่หนึ่งเริ่มลดลง ซึ่งอาจจะทำให้เกิดพีคที่สองจาก BA.2 ได้ ลักษณะเช่นเดียวกันกับที่เดนมาร์ก ก็มีสายพันธุ์ BA.2 เป็นหลักแล้ว

ดังนั้น ถ้าประเทศใด ที่การระบาดของ "โอไมครอน" หรือ "โอมิครอน" ยังไม่ถึงพีค แม้มีสายพันธุ์ย่อยที่สองเข้ามาเป็นสายพันธุ์เด่น ก็จะเดินหน้าขึ้นเป็นพีคเดียว แต่เป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ที่ขึ้นสูงกว่าสายพันธุ์ย่อยที่หนึ่ง แต่ถ้าประเทศใด ที่สามารถคุมสถานการณ์ได้ดีจากสายพันธุ์ย่อยที่หนึ่ง ทำให้มีการชะลอตัว หรือเริ่มเป็นขาลงแล้ว เช่นที่แอฟริกาใต้ อาจจะได้เห็นการเพิ่มของผู้ติดเชื้อเป็นพีคที่สองในระลอกเดียวกันจากสายพันธุ์ย่อยที่สอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้ามีจังหวะการผ่อนคลายในการควบคุมโรค ทั้งจากภาครัฐ และภาคประชาชน ที่อาจจะเร็วเกินไป หรือมากเกินไป เมื่อพบสายพันธุ์ย่อยที่สองเข้า ก็อาจจะทำให้เกิดพีคใหม่ได้ เป็นความจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่จะต้องมีมาตรการผ่อนคลายลง เพื่อให้มิติทางเศรษฐกิจและสังคม สามารถเดินหน้าต่อไปได้ โดยได้รับผลกระทบที่ไม่มากนัก แต่จังหวะเวลาและระดับของการผ่อนคลาย เป็นเรื่องที่จะต้องใช้ความสามารถอย่างมาก ต้องทำได้ถูกจังหวะเวลา พอเหมาะพอดีกับไวรัส จึงจะได้ผลดีแบบสมดุล ระหว่างมิติเศรษฐกิจและสังคม กับมิติทางด้านสาธารณสุข

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ