โควิด-19

"ฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนัง" เช็คชัด ๆ มีข้อดี-ข้อเสีย อย่างไร สรุปมาให้แล้ว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนัง" ทางเลือกใหม่วัคซีนต้านโควิด-19 เช็คชัด ๆ มีข้อดี-ข้อเสีย อย่างไร ประสิทธิภาพเท่าเข้ากล้ามหรือไม่ สรุปมาให้แล้ว

"ฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนัง" ข้อดี-ข้อเสีย หลังจากที่ ที่ประชุมคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคได้มีมติเห็นชอบ การฉีดวัคซีนเข้าในชั้นผิวหนัง รวมทั้งล่าสุด ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ ได้เพิ่มทางเลือกในการฉีด "วัคซีนเข็มกระตุ้น" วัคซีนเข็ม 3 วัคซีนเข็ม 4 ด้วยการ "ฉีดเข้าชั้นผิวหนัง" ด้วย "คมชัดลึกออนไลน์" ได้รวบรวมข้อดี และ ประสิทธิภาพของการฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนัง เพื่อประกอบการตัดสินใจ ดังนี้

 

 

"หมอดื้อ" นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้การสนับสนุนข้อมูลเรื่องการฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนังมาโดยตลอด โดยระบุว่า การฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนัง ไม่ใช่ประหยัดอย่างเดียว แต่เพื่อความปลอดภัยสูงสุดด้วย ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ประหลาดมหัศจรรย์ ในการนำวัคซีนทุกประเภทมาใช้ในการฉีดเข้าชั้นผิวหนัง ทั้งนี้ ประโยชน์ที่จะได้รับนั้น คือการที่จะสามารถประหยัดวัคซีนลงได้มหาศาล โดยเฉพาะในเรื่องของวัคซีนโควิด

 

 

ซึ่งข้อมูลในปัจจุบันยืนยันกันแล้วว่า ต้องสามารถฉีดให้ได้ 90% ของคนในพื้นที่ หรือในประเทศภายในระยะเวลาอันสั้น นั่นคือไม่เกินสามเดือน ทั้งนี้ เพื่อไม่เปิดโอกาสให้ไวรัสมีการแพร่เป็นลูกโซ่ออกไปต่อ ซึ่งในระหว่างการแพร่นั้น จะมีการพัฒนาตนเองให้เก่งกาจมากขึ้น ทั้งในการติดง่าย ซึ่งหมายถึงหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันของมนุษย์ตามธรรมชาติ และดื้อต่อภูมิที่ได้จากวัคซีน และยังรวมทั้งดื้อต่อภูมิที่ได้จากการติดเชื้อ ที่เกิดขึ้นมาก่อน และทำให้อาการหนัก ตายมากขึ้น

ประโยชน์ที่สำคัญคือในเรื่องของความปลอดภัยและผลแทรกซ้อน 

 

 

  1. การฉีดเข้าชั้นผิวหนังจะใช้ปริมาณน้อยมาก ดังนั้น การกระตุ้นทำให้เกิดผลแทรกซ้อน หรือผลข้างเคียงจะน้อยกว่า 
  2. ยังสามารถอธิบายได้จากการที่การฉีดเข้าชั้นผิวหนังนั้น กลไกในการกระตุ้นภูมิจะแยกออกอีกสายที่เรียกว่าเป็น Th2 ในขณะที่การฉีดเข้ากล้ามการกระตุ้นจะเป็นสาย Th1 และสาย Th1 นี้เอง ที่เป็นขั้นตอนกระบวนการของโควิด ที่ทำให้เกิดการอักเสบอย่างรุนแรง ต่อจากเม็ดเลือดขาว นิวโตรฟิล และต่อเนื่อง จนกระทั่งเกิดมีลิ่มเลือดอุดตัน หรือเนื้อเยื่อและอวัยวะอักเสบทั่วร่างกาย รวมกระทั่งถึงกล้ามเนื้อหัวใจและสมองอักเสบ ที่เราเรียกว่ามรสุมภูมิวิกฤติ (cytokine storm)
  3. ทั้งนี้เราทุกคนต้องไม่ลืมว่าวัคซีนนั้น คือร่างจำลองของไวรัสโควิดนั่นเองและส่วนที่วัคซีนทุกยี่ห้อนำมาใช้นั้นจะมีส่วนหรือชิ้นของไวรัสที่เกาะติดกับเซลล์มนุษย์ และเป็นตำแหน่งเดียวกันกับที่ทำให้เกิดการอักเสบ จาก ACE2 รวมกระทั่งถึงการทำให้มีความเบี่ยงเบน ขาดสมดุลระหว่าง Th1 และTh2 โดยออกไปทาง Th1 และ ต่อด้วยอีกหลายสายย่อย รวมทั้ง 17 เป็นตัน รวมทั้งกระตุ้นการสร้างภูมิที่กลายเป็นตัวไวรัสจำแลง anti-idiotypic antibody

ผลข้างเคียงที่พบจากการ "ฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนัง"

 

 

  • การฉีดเข้าชั้นผิวหนังไม่ต่ำกว่า 400 ราย ได้ผลดีและมีผลข้างเคียงเป็นเฉพาะที่ตุ่มแดง หรือคัน โดยผลข้างเคียงรุนแรงไข้ปวดหัวปวดเมื่อย และอาการร้ายแรงอื่น ๆ ไม่ปรากฏ หรือน้อยมาก
  • ประสบการณ์การศึกษาของ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และจากโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ก็ได้แสดงถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยในลักษณะเดียวกัน โดยผลข้างเคียงที่เกิดแก่ระบบทั่วร่างกาย ต่ำกว่าการฉีดเข้ากล้าม 10 เท่าหรือมากกว่า

 

 

สรุปประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการฉีดวัคซีนเข้าในชั้นผิวหนัง

 

 


จากผลการศึกษาพบว่า ค่าเฉลี่ยของค่าภูมิคุ้มกันหลังฉีด 2 สัปดาห์นั้น สูงถึง 17,662.3 AU/ml เลยทีเดียว และปฏิกิริยาทั่วร่างกายที่เกิดขึ้นก็น้อยกว่าการฉีดเข้ากล้ามเนื้ออีกด้วย

 

 

นอกจากนี้ ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ก็ได้ออกมาโพสต์เกี่ยวกับการศึกษาในอาสาสมัครจำนวน 30 คน โดยทีมนักวิจัยจากเนเธอร์แลนด์ ทดสอบการฉีด Moderna Vaccine ใหม่ โดยแทนที่จะฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (Intramuscular Injection: IM) 2 เข็มห่างกัน 4 สัปดาห์ เปลี่ยนเป็นฉีดเข้าในชั้นผิวหนัง 
(Intradermal Injection: ID) 2 เข็มห่างกัน 4 สัปดาห์แทน จากนั้น ได้ทำการวัดระดับแอนติบอดี้ เมื่อฉีดครบ 2 สัปดาห์แล้ว พบว่า ระดับ anti-spike และ anti-RBD สูงเทียบเท่ากับการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ โดยที่ผลข้างเคียงแทบไม่ต่างกันเลย

 

สอดรับกับ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ก็ได้กล่าวถึงผลการวิจัยภูมิคุ้มกันและความปลอดภัย จากการได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นเข้าชั้นผิวหนัง ซึ่งเป็นการวิจัยที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยฉีด "วัคซีนเข็ม 3" หรือบูสเตอร์โดส ให้กับอาสาสมัครที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็มมาแล้ว 4 – 8 สัปดาห์ และ 8 – 12 สัปดาห์ ซึ่งเปลี่ยนจากการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ เป็นฉีดเข้าในชั้นผิวหนัง หลังจากนั้น 14 วัน ได้เจาะเลือดเพื่อตรวจผลข้างเคียงและการเกิดภูมิคุ้มกัน พบว่า 

 

  • เกิดอาการเฉพาะที่หรือจุดที่ฉีดมากกว่าการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ เช่น อาการปวด บวม แดง คลำแล้วเป็นไต
  • อาการทั่วไปของร่างกายที่มีปฏิกิริยาเกิดขึ้น เช่น ไข้ ปวดหัว ปวดเมื่อย อ่อนเพลีย น้อยลง เมื่อเทียบกับการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 
  • การตอบสนองภูมิคุ้มกัน สำหรับส่วนของภูมิทั่วไป พบว่า หากฉีดซิโนแวค 2 เข็ม ในภาพรวมจะมีภูมิขึ้นมาประมาณหนึ่ง แต่หากฉีดกระตุ้นไม่ว่าจะฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือชั้นผิวหนัง และไม่ว่าจะเป็นระยะเวลา 4 – 8 สัปดาห์ หรือหลังจากนั้นเล็กน้อย พบว่าเกิดภูมิเพิ่มขึ้นมาค่อนข้างสูงใกล้เคียงกัน

 

ขณะที่การยับยั้งโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา พบว่า หากฉีด 2 แบบเปรียบเทียบกัน ได้ผลไม่แตกแต่งกันมาก ดังนั้น ยืนยันว่า การฉีดเข้าในชั้นผิวหนังสามารถจัดการสายพันธุ์เดลตาได้เช่นกัน
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ